xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.เดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง แก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลพบุรี - สทนช. เร่งศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง โดยการผันน้ำจากเขื่อนป่าสัก ในช่วงฤดูน้ำหลาก

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สทนช. กำลังดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ผ่านมา ลุ่มน้ำลำตะคองซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำมูลได้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองไม่เพียงพอต่อความต้องการด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค

ประกอบกับจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนประชากรและโรงงานอุตสาหกรรมมาก ทำให้ไม่สามารถจัดหาน้ำต้นทุนภายในลุ่มน้ำมาเพิ่มได้ ส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2558 เทศบาลนครนครราชสีมาดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา วันละไม่เกิน 35,000 ลูกบาศก์เมตร มาใช้ในการผลิตน้ำประปา ในขณะเดียวกัน มีปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวเฉลี่ยประมาณ 21 วัน หากสามารถผันน้ำจากลุ่มน้ำ ป่าสักหรือลุ่มน้ำข้างเคียงมาเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนลำตะคองได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำลำตะคอง รวมถึงลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้อีกทาง

ลาสุด วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ห้องประชุมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี สทนช. ได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ ครั้งที่ 1 พาสื่อมวลชนดูงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ โดยมีนายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มาเป็นผู้ดำเนินการ

เพื่อกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามลุ่มน้ำ และกำหนดแนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำภาพรวมของประเทศ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำลำตะคอง และบรรเทาปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำป่าสัก และคงความสมดุลของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณลุ่มน้ำลำตะคองอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคง แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มจังหวัด

ทั้งนี้ ได้มีการวางแนวทางที่จะจัดสรรน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อส่งลงยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง โดยการวางท่อสูบน้ำจากเขื่อนป่าสัก หลังจากที่น้ำในเขื่อนป่าสักมีปริมาณมากพอในระดับที่ตั้งไว้ ในช่วงที่น้ำในเขื่อนป่าสักมีระดับเก็บกักน้ำสูงสุดจะทำการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าน้ำในเขื่อนป่าสักมีระดับลดลงมาเกิน 1 เมตร จากจุดสูงสุด ก็จะหยุดทำการผันน้ำทันที

โดยช่วงที่ผันน้ำจะอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก คือประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมเท่านั้น ซึ่งการผันน้ำในช่วงนี้จะไม่มีผลกระทบต่อน้ำในเขื่อนป่าสักแต่อย่างใด และทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการก็ได้ลงพื้นที่ประชาคมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาตามโครงการดังกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น