เชียงราย - ถ้ำหลวงฯ เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไปหลังปิดไปกว่า 3 เดือน เผยช่วงที่ปิดได้ทำการปรับปรุงสถานที่ทั้งภายในและภายนอกถ้ำเพื่ออำนวยความสะดวก โดยเฉพาะเตรียมการจัดระเบียบจำนวนผู้เข้าไปชมในถ้ำในแนวทางนิวนอร์มัล อีกทั้งจังหวัดสั่งยกเลิกด่านคัดกรองทุกด่านแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไปกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้อนุญาตให้ทางอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) มีกำหนดจะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมภายในอุทยานแห่งชาติดังกล่าวได้อีกครั้ง หลังจากได้ปิดไปยาวนานประมาณ 3 เดือน เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยช่วงที่ปิดอยู่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำการพัฒนาพื้นที่ภายในหลายจุดทั้งการก่อสร้างถนนทางเชื่อมระหว่างถ้ำหลวงกับขุนน้ำนางนอนหรือสระมรกต เพิ่มระบบรถราง และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายใน
ส่วนภายในถ้ำหลวงที่เคยเกิดเหตุการณ์ช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ที่หลงเข้าไปติดอยู่ภายในตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2561 หรือประมาณ 2 ปีก่อน ก็มีการติดไฟส่องสว่าง และภายนอกมีการสร้างอนุสาวรีย์นาวาตรี สมาน กุนัน หรือจ่าแซม และศาลาอนุสรณ์สถานรวมทั้งผลงานทางศิลปะโดยศิลปินชาวเชียงราย นำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย
นายกวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ เปิดเผยว่า เมื่อจะมีการเปิดให้เข้าชมอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องการป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือนิวนอร์มัลอย่างเข้มข้น โดยมีการดำเนินการหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปภายในเพื่อให้มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งกรณีของถ้ำหลวงนั้นได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่าผู้ที่เข้าไปจะอยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมง และภายใน 2 ชั่วโมงก็กำหนดให้มีผู้คนอยู่ภายในได้ประมาณ 600 คน แต่หากว่ามีนักท่องเที่ยวพากันเข้าไปจำนวนมากเกินจำนวนดังกล่าวก็จะต้องให้รออยู่ด้านนอกเพื่อเข้าชมในลำดับถัดไป
นายกวีกล่าวว่า หากนักท่องเที่ยวที่อยู่ภายในเดินทางออกมาได้ประมาณ 50 คน ก็จะถ่ายเทนักท่องเที่ยวที่นั่งรออยู่ด้านนอกได้เดินทางเข้าไปได้ นอกจากนี้ทุกคนที่เข้าไปจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเข้มงวด การจัดสถานที่ต่างๆ ให้เว้นระยะห่างกัน มีการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านระบบโทรศัพท์มือถือทั้งขาเข้าและออกเพื่อคำนวณตัวเลข และหากนักท่องเที่ยวท่านใดไม่มีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ก็จะใช้การจดบันทึกชื่อและแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้แทน รวมทั้งมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ติดสติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ ฯลฯ ครบครัน โดยการดำเนินการจะเริ่มตั้งแต่การนั่งรถรางจากพื้นที่ด้านนอกเข้าไปจนกระทั่งเดินทางกลับต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จ.เชียงราย ที่มีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นผู้อำนวยการและเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ด้วย ได้มีคำสั่งยกเลิกการตั้งด่านตรวจและจุดตรวจการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวบนถนนสายหลักเข้าสู่จังหวัดแล้ว โดยหลังจากมีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. และวันที่ 7 เม.ย.เป็นต้นมา โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายในระดับหนึ่งและไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน จ.เชียงราย ถึงวันที่ 23 มิ.ย. เป็นเวลาครบ 84 วันแล้ว
ทั้งนี้ จุดที่ยกเลิกประกอบด้วย ด่านตรวจกิ่วสะไต อ.แม่จัน เชื่อมกับ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ด่านตรวจหงาว อ.เทิง เชื่อมกับ อ.ภูซาง จ.พะเยา ด่านตรวจปูแกง อ.พาน บนถนนพหลโยธินเชื่อมกับ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ด่านตรวจบ้านเกาะ อ.เวียงป่าเป้า เชื่อมกับ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังยกเลิกจุดตรวจที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย และจุดตรวจสถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.เชียงราย แห่งที่ 2 ด้วย กระนั้น สำหรับพรมแดนไทย-พม่า และไทย-สปป.ลาว ยังคงปิดไม่อนุญาตให้คนเข้าออกทุกจุด ยกเว้นเพื่อการขนส่งสินค้าที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ แห่งละ 1 จุดเท่านั้น