เพชรบุรี - กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบซากโบราณสถานหลังจากมีการปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตรกรรมแล้วพบอิฐและเศษอิฐจำนวนมาก และจากการตรวจสอบเอกสารพบว่าแนวโบราณสถานที่พบน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี
วันนี้ (16 มิ.ย.) กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นำโดย นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี) สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบซากโบราณสถาน หลังจากมีการปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตรกรรม แล้วพบอิฐและเศษอิฐจำนวนมากบริเวณพื้นที่ไร่ทองพูน ต.ช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบอิฐและเศษอิฐจำนวนมากปนขึ้นมากับดินที่ถูกไถ และบางส่วนยังปรากฏแนวอิฐเรียงปูเป็นพื้นให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย และจากการตรวจสอบเอกสาร พบว่า แนวโบราณสถานที่พบน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแนวกำแพงเมืองเก่าที่พบถือเป็นข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดี ทางประวัติศาสตร์เมืองเก่าเพชรบุรีที่สำคัญมาก เนื่องจากแนวโบราณสถานที่พบเป็นหลักฐานประจักษ์สำคัญที่แสดงถึงร่องรอยหลักฐานกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ เทคนิค และวัสดุการก่อสร้างของตัวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรีมาก่อน
นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี) สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทาง อบต.ช่องสะแก ว่า มีการขุดพบซากอิฐในพื้นที่ที่ปรับทำศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ซึ่งจากการปรับพื้นที่ทำให้พบร่องรอยของแนวอิฐฉาบปูนสมัยโบราณ ซึ่งแนวพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นแนวกำแพงเมืองเก่า แต่ยังไม่ทราบว่าแนวที่พบเป็นป้อมหรือฐานของแนวกำแพง
โดยทาง อบต.ช่องสะแก ขอให้ทางสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งตามข้อมูลเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นแนวกำแพงเมืองเก่าของเพชรบุรี เบื้องต้น เป็นการปรับพื้นที่และพบเครื่องปั้นดินเผารูปร่างคล้ายลูกประคบ คาดว่าเป็นหินดุ ที่ใช้สำหรับใช้เป็นเป็นอุปกรณ์ในการทำหม้อดินในสมัยโบราณแต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของสมัยใดซึ่งอาจจะเป็นของใช้ร่วมสมัยก็เป็นได้
นอกจากนี้ ยังพบอิฐที่มีก้อนขนาดใหญ่ เป็นไซส์ที่นิยมใช้ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะร่วมรุ่นกับแนวกำแพงที่พบทางด้านทิศตะวันออก รวมถึงโบราณสถานที่อยู่ในตัวเมืองเพชรที่มีอายุสมัยอยุธยา ต้นอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ มีความเป็นไปได้ที่มีความร่วมสมัยกับซากที่พบในครั้งนี้ โดยทางเจ้าหน้าที่จะต้องทำการตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อหาร่องรอยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ด้าน น.ส.ทัดทอง พราหมณี ผู้ดูแลไร่ทองพูน เปิดเผยว่า สำหรับการพบซากโบราณสถานในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากได้ปรับพื้นที่เดิมที่เป็นป่ารกเพื่อปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตรกร และได้พบร่องรอยของโบราณสถานซึ่งพบบริเวณแนวริมรั้วของไร่ด้านฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งติดกับถนนสายหลักประกอบกับทราบเรื่องราวของประวัติเมืองเพชรอยู่แล้ว ซึ่งต้องขอบคุณนักโบราณคดีที่ได้ลงมาสำรวจเพื่อให้ความกระจ่างซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน โดยตนเองรู้สึกดีใจที่พบและเต็มใจที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรีต่อไป