เพชรบุรี - เหยื่อวุฒิปลอมวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท โผล่อีกที่เพชรบุรี 20 ราย เผยถูกหลอกให้ไปนั่งเรียนที่วัดเกือบ 1 ปี แต่วุฒิที่ได้รับ ทาง สอศ.ยืนยันแล้วว่า ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการสอนนอกที่ตั้ง และประกาศปิดโรงเรียนไปแล้ว เข้าแจ้งความเรียกร้องความเสียหาย
จากกรณีนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท ในหลายจังหวัดที่เปิดเป็นศูนย์นอกที่ตั้งหลายร้อยคนถูกลอยแพ โดยล่าสุด เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีนักศึกษาจากศูนย์บ้านไร่ จ.ราชบุรี ได้ร้องเรียนให้ทำการตรวจสอบ กรณีวิทยาลัยปิดตัวลงและลอยแพนักศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกที่ตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ตามที่วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท จังหวัดชัยนาท ประกาศเลิกกิจการ เหตุผลว่าประสบภาวะขาดทุน ไม่สามารถเปิดโรงเรียนต่อได้ จะชดเชยเงินค่าเรียนให้นักเรียนภาคบ่าย ที่ยังไม่จบการศึกษา เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทในเดือน พ.ค.63 และใบระเบียนแสดงผลการเรียนหรือใบ รบ. จะได้รับในวันที่ 30 เมษายน นั้น
ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตรวจสอบพบว่า มีการเปิดสอนนอกสถานที่ตั้งไม่ถูกต้อง ทั้งเปิดสอนตามห้างสรรพสินค้า หรือตามองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จึงงดให้เงินอุดหนุนรายหัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 รวมถึงไม่รับรองการออกใบ รบ.ให้ และขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้กลุ่มนักเรียนดังกล่าวเกิดความกังวลใจว่าจะถูกลอยแพ ทั้งๆ ที่เรียนมาจนครบหลักสูตรของทางวิทยาลัย
อีกทั้งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีการเสียเงินค่าเล่าเรียนที่ถูกอาจารย์เรียกเก็บ โดยกล่าวว่าต้องจ่ายให้แก่ทางสถาบันและมีการออกใบเสร็จรับเงิน รวมตลอดทั้งปีเสียเงินรวมรายละเกือบ 1 แสนบาท เมื่อพวกตนพยายามสอบถามกับอาจารย์ผู้สอน กลับถูกบ่ายเบี่ยงและถูกต่อว่า อีกทั้งยังปัดความรับผิดชอบ โยนให้ไปทางสถาบันเป็นผู้รับผิดชอบ
ล่าสุด วันนี้ (5 พ.ค.) น.ส.จิราพัชร พุ่มกลิ่น อายุ 27 ปี พร้อมด้วยนายประหยัด เชื้อชัง อายุ 39 ปี ทั้งคู่เป็นสามีและภรรยา ชาวอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เผยถูกหลอกให้สมัครและเรียนตั้งแต่ปี 61 หลังเสียค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์แล้วก็มีการนัดจัดการเรียนการสอนที่วัดโคก ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี อยู่ประมาณ 5 เดือน จากนั้นเปลี่ยนไปเรียนที่บ้านอาจารย์ผู้สอน อยู่ที่บ้านพักในตำบลท่าหิน เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี จนครบ 1 ปี
โดยตนเองเรียนระดับ ปวส.บัญชี ส่วนสามีเรียน ปวช.บัญชี จนสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ต่อมา ได้วุฒิการศึกษา และได้นำไปสมัครงาน โชคดีสอบไม่ติดจึงไม่ถูกตรวจสอบวุฒิ กระทั่งมีข่าวร้องเรียนเกิดขึ้นที่ ศูนย์บ้านไร่ จ.ราชบุรี จึงรีบตรวจสอบวุฒิการศึกษาที่ได้รับไปที่ สอศ. แต่พบเป็นวุฒิปลอม จึงได้เดินทางมาแจ้งความที่ สภ.เมืองเพชรบุรี ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องไหวตัว รีบนัดหมายลงมาไกล่เกลี่ย อ้างจะติดตามให้ว่า วุฒิการศึกษาใช้ได้หรือไม่
ซึ่งในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะมีเพื่อนๆ ที่เรียนในรุ่นเดียวกันประมาณ 20 คน เดินทางมาแจ้งความเพิ่มเติมอีก โดยเบื้องต้น ทั้งคู่เผยว่า ได้เสียค่าเล่าเรียนไปคนละประมาณ 50,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งตนต้องการดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ทำให้ตนเองและสามีต้องเสียทั้งเงินและเสียเวลา และหากมีการนำวุฒิการศึกษานี้ไปใช้ ก็อาจถูกดำเนินคดีฐานใช้วุฒิการศึกษาปลอมอีกด้วย