อุบลราชธานี - สยบดรามา! ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี แถลงโต้ข่าวไม่รับเด็กป่วยตาโปนไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เผยย่ากลัวไม่ทันรถ กลัวค่ารักษาแพง ทั้งเด็กงอแง ขณะที่ รพ.ให้ไปขอรับสังคมสงเคราะห์ ย้ำแม้คนประเทศเพื่อนบ้านก็รักษาฟรี
วันนี้ (4 พ.ค. 63) ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี นายแพทย์ มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีข่าวโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ไม่รับรักษาเด็กวัย 4 ขวบที่มีอาการตาบวม เปลือกตาปิดไม่สนิท ชาวอำเภอนาตาล จ.อุบลราชธานี และได้มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียลนั้น
โดยระบุว่า ผู้ป่วยเป็นเด็กหญิง อายุประมาณ 4 ขวบ ย่าพาเข้ามารักษาด้วยอาการตาโปน ที่เจ็บป่วยมาประมาณ 1 เดือน ทำให้ปิดตาไม่สนิทมาราว 1 สัปดาห์ โดยมีใบส่งตัวมาจากโรงพยาบาลประจำอำเภอเขมราฐ และผู้ป่วยมาขึ้นบัตรที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เกือบ 11 โมงเช้า หลังพยาบาลซักประวัติจึงส่งเข้าตรวจที่แผนกจักษุ
ต่อมาแพทย์ให้หาสาเหตุโดยการตรวจ X-ray คอมพิวเตอร์ (CT scan) และตรวจเลือด มีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาท เนื่องจากบัตรตรวจขึ้นทะเบียนเป็นชำระเงินสดต่างด้าวเพราะเด็กไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก แต่ย่ายืนยันว่าเด็กมีพ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนลาว และไม่ได้ไปแจ้งเกิด ทำให้ไม่มีเลข 13 หลัก
เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้ย่าไปตรวจสอบสิทธิที่แผนกสังคมสงเคราะห์ที่อยู่ภายในโรงพยาบาลเพื่อให้ช่วยเหลือค่ารักษา แล้วกลับมาที่ห้องตรวจเพื่อนำใบเจาะเลือดไปตรวจหาสาเหตุ แต่เมื่อย่าพาผู้ป่วยไปที่ห้องเจาะเลือดพบว่าได้รับคำแนะนำให้ไปคิดค่ารักษาเพื่อนำยอดไปให้สังคมสงเคราะห์พิจารณาช่วยเหลือ แต่หลังจากนั้นไม่พบผู้ป่วยไปที่ห้องเจาะเลือด
กระทั่งบ่ายโมงเศษ เจ้าหน้าที่ที่แผนกตาและนักสังคมสงเคราะห์ได้สอบถามไปที่ห้องเจาะเลือดเพื่อติดตามผลแต่ไม่พบ จึงประกาศเสียงเรียกหาตัวคนทั้งคู่ถึง 4 ครั้ง แต่ไม่มาพบเจ้าหน้าที่ รวมทั้งย่าและหลานไม่มีโทรศัพท์ใช้ติดตามตัวด้วย ต่อมาทราบภายหลังว่าย่าพาเด็กกลับบ้านที่อำเภอนาตาลเพราะกังวลเรื่องค่ารักษา รวมทั้งเกรงไม่ทันรถที่เดินทางมา ประกอบกับหลานสาวร้องงอแงอยากกลับบ้านด้วย จึงวางแผนติดตามตัวไปที่ รพ.สต.ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ในวันทำการต่อไป แต่พบว่าเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ก่อน
นายแพทย์ มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ยืนยันว่าโรงพยาบาลไม่ได้ปฏิเสธการรักษา แต่ต้องแจ้งค่ารักษาพยาบาลไปตามระบบ เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายได้จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาประเมินค่าใช้จ่ายแล้วจึงให้การช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีระบบตรงนี้ไว้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ ไม่ได้เกี่ยงเรื่องของสัญชาติของผู้ป่วยแต่อย่างใด
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและกัมพูชา ให้การช่วยเหลือรักษาคนจากประเทศเพื่อนบ้านปีละกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ทราบดีของประชาชนทั้งสองประเทศที่กล่าวมา
ปัจจุบันเด็กหญิงวัย 4 ขวบได้เข้ารับการรักษาและอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ จักษุแพทย์ และแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดด้านการรักษาของคณะแพทย์