xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! ขุดเจอกลองมโหระทึก อายุกว่า 2,000 ปี เล็งเก็บรักษาเป็นสมบัติชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลองโบราณที่ขุดพบบริเวณทุ่งนาบ้านคำอ้อม หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
มุกดาหาร - ตะลึง! แบ็กโฮขุดดินทำถนน 4 เลน พบกลองโบราณยักษ์ที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ 9 จ.อุบลราชธานี รุดตรวจสอบพบเป็นกลองสำริดโบราณ หรือกลองมโหระทึก อายุกว่า 1,500-2,000 ปี เตรียมเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ


วันนี้ (29 เม.ย. ) ที่บริเวณทุ่งนาชาวบ้านคำอ้อม หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักกรมศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ตรวจสอบกลองสำริดโบราณ ภายหลังจากรถแบ็กโฮขุดดินไปทำถนน 4 เลน ได้ขุดพบวัตถุโบราณดังกล่าวซึ่งคาดว่าเป็นวัตถุโบราณสำหรับใช้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ อายุราว 1,500-2,000 ปีขึ้นไป

เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องมือลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บรายละเอียดกลองสำริดโบราณในพื้นที่ทุ่งนาซึ่งได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านนายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี เพื่อรอให้กรมศิลปากรจังหวัดอุบลราชธานี ลงมาตรวจสอบ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่และชาวบ้านใกล้เคียงที่รู้ข่าวต่างพากันนำเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ธูปเทียน ทยอยเดินทางมาไม่ขาดสาย เพื่อกราบไหว้ขอโชคลาภตามความเชื่อ




นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ภายหลังที่นายอำเภอคำชะอีได้ทำหนังสือให้มาตรวจสอบกลองสำริดโบราณ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นกลองสำริดโบราณที่สร้างขึ้นจากทองเหลือง เป็นแร่ดีบุกผสมกับทองแดง ตรวจสอบจากหลักฐานข้อมูลที่เคยค้นพบแล้ว ยืนยันเป็นกลองสำริดโบราณ จำแนกอยู่ในกลุ่มที่ 3 อายุอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกกลองมโหระทึก

ถือเป็นกลองที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการหล่อในยุคโบราณ เพื่อนำมาประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญ หรือเป็นกลองที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธีข้อฟ้าขอฝน รวมถึงพิธีที่เป็นสิริมงคลต่างๆ โดยมีการเขียนลวดลายตามหลักความเชื่อโหราศาสตร์ ที่สำคัญจะมีรูปกบติดอยู่บริเวณหน้ากลอง ซึ่งการตรวจสอบข้อมูลเชื่อว่า รูปกบ เป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ ถือเป็นความโชคดีของชาวบ้านอำเภอคำชะอีที่มีการขุดพบกลองสำริดโบราณครั้งนี้




สำหรับขั้นตอนการดูแลรักษาทางสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี จะดูแลรับผิดชอบ พร้อมตรวจสอบบันทึกทำประวัติ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ และนำมาดูแลเก็บรักษาไว้ที่สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เพื่อให้ประชาชนได้มาศึกษาเยี่ยมชม และจารึกลงในพิพิธภัณฑ์ ว่าค้นพบในจังหวัดมุกดาหาร เพื่อให้ลูกหลานได้สืบประวัติศาสตร์นี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น