ตราด - รถยนต์ลูกล้งรับซื้อผลไม้กว่า 300 คันทะลักเข้า จ.ตราด หลัง คกก.โรคติดต่อ ไฟเขียวเข้ารับซื้อผลไม้ทั้งทุเรียน-มังคุดได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอยู่ได้เพียง 15 วัน และต้องปฏิบัติตามมาตรการปิดเมือง ป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด คาดสามารถระบายผลไม้ในพื้นที่ได้วันละพันตัน
วันนี้ (8 เม.ย.) นายวินัย ขยันยิ่ง นักวิชาการการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.ตราด ทำการคัดกรองแรงงานรับซื้อผลไม้จากล้งรับซื้อผลไม้ใน จ.จันทบุรี จำนวนกว่า 120 คน ที่เดินทางมาพร้อมรถบรรทุกกว่า 50 คัน เข้ามารับซื้อผลไม้ในสวนผลไม้ต่างๆ ใน จ.ตราด โดยได้ทำการตรวจคัดกรอง ณ จุดคัดกรองโรคด่านท่าจอด ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง และให้แรงงานทำการกรอกประวัติตัวเองพร้อมสถานที่รับซื้อผลไม้ในแต่ละสวนให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบก่อนเข้าทำงาน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีรถยนต์กว่า 300 คัน เดินทางเข้าไปตัดผลไม้ในสวนต่างๆ ของชาวบ้านและมีแรงงานกว่า 1 พันคนเข้าพื้นที่ อ.เขาสมิง และ อ.บ่อไร่ เพื่อตัดทุเรียนและมังคุด
นายวินัย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ จ.ตราด มีมติอนุญาตให้ล้งรับซื้อผลไม้ใน จ.จันทบุรี และระยอง นำแรงงานต่างด้าวเข้าตัดผลไม้ในสวนต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขต้องกรอกประวัติ และสถานที่ (สวน) ที่จะเข้าไปรับซื้อ รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่สวน และต้องสวมหน้ากากและทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ และจะอนุญาตให้เข้าทำการตัดผลไม้ภายในระยะเวลา 15 วัน รวมทั้งผู้รับซื้อกุ้งด้วย
ทำให้ในวันนี้มีรถยนต์รับซื้อจากจันทบุรีกว่า 300 คัน เข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากล้งรับซื้อผลไม้ใน จ.ตราด มีเพียง 5 แห่งซึ่งไม่เพียงพอต่อการรับซื้อผลไม้ที่มีจำนวนมาก ทั้งนี้ รถรับซื้อผลไม้แต่ละคันจะสามารถรับซื้อผลไม้ได้ประมาณ 3-4 ตัน หรือวันละ 1,000 ตัน
ขณะที่ราคาราคาทุเรียนเมืองตราดในขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท ส่วนผู้ที่จะเข้ามารับซื้อหากจะให้รวดเร็วสามารถนำเอกสารไปกรอกล่วงหน้าได้
ด้าน นางวิสา พูนผล เจ้าของแผงรับซื้อผลไม้ใน จ.จันทบุรี เผยว่า การจัดระเบียบในลักษณะดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อและผู้ขายได้ และแม้ที่ผ่านมาจะต้องเสียเวลากับการคัดกรองโรค แต่กฎระเบียบต่างๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากนัก
ทั้งนี้ จ.ตราด มีมติในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตราด ไฟเขียวให้รถขนผลไม้และแรงงาน รวมไปถึงนากุ้ง ให้เข้าในพื้นที่ตราดได้เพื่อขนส่งสินค้า แต่จะมีมาตรการอย่างเข้มงวดกับรถ แรงงาน และเจ้าของสวน เจ้าของนากุ้ง คือ ต้องทำประวัติทุกคนที่เข้าออก ทำประวัติทะเบียนรถ ห้ามแรงงานหรือรถออกนอกพื้นที่ที่ไปรับสินค้าทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องทำตามมาตรการความปลอดภัยของสาธารณสุข และจะมีบทลงโทษอย่างจริงจังหากไม่ทำตามเงื่อนไขมาตรการควบคุมโรคเชื้อไวรัสโควิด-19