ประจวบคีรีขันธ์ - ศูนย์เฝ้าระวังโควิด-19 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประดิษฐ์ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยยูวี-ซี ขนาดเล็ก มอบให้แก่โรงยาบาลหัวหิน เพื่อไว้ใช้อบฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยประหยัดทรัพยากรทางแพทย์ ชูจุดเด่นราคาต้นทุนหลักพัน ใช้เวลาน้อย ฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิด ประชาชนสามารถทำเองได้
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ร่วมกันส่งมอบ และสาธิตวิธีใช้ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยยูวี-ซี 15 วัตต์ ขนาดเล็ก ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ให้แก่นายแพทย์นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน เพื่อส่งมอบต่อให้แก่แพทย์ พยาบาล นำไปใช้ในภารกิจต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 พร้อมกันนี้ ทางศูนย์เฝ้าระวังโควิด-19 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ยังได้มอบ Face shield อีกจำนวน 500 ชิ้น ซึ่งอาจารย์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ช่วยกันทำให้แก่แพทย์ และพยาบาลโรงพยาบาลหัวหินด้วย
อาจารย์ ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยยูวี-ซี 15 วัตต์ ขนาดเล็ก เป็นเครื่องมือที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคด้วยการฉายรังสียูวี สามารถทำลายเชื้อโรคได้หลายชนิด ประกอบด้วย แบคทีเรีย ไวรัส ราเส้นใย ยีสต์ โดยทำลายโครงสร้างกรดนิวคลีอิก ซึ่งเป็นองค์ประกอบดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอของเชื้อโรคที่มีความยาวคลื่น 260-265 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความยาวคลื่นที่ดีเอ็นเอดูดซับได้ดีที่สุด มีลักษณะเป็นกล่องสีเหลี่ยมขนาด 30X60x30 เซนติเมตร บุด้วยแผ่นสะท้อนแสง ภายใน ติดตั้งหลอดยูวี-ซี ขนาด 15 วัตต์
ซึ่งหลอดไฟชนิดนี้สามารถซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า กั้นด้วยแผ่นอะคริลิกใส เพื่อให้สามารถวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะฆ่าเชื้อได้ เช่น หน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย N95 เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ขนาดเล็กอื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องปิดเครื่องก่อนทำการอบฆ่าเชื้อ วิธีการใช้ง่ายและรวดเร็ว สามารถนำหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์อื่นๆ ลงไปอบฆ่าเชื้อในตู้ ปิดฝาและเปิดหลอดไฟใช้เวลา 5 นาที จากนั้นปิดไฟให้คลายพลังงานสัก 2 นาที จึงนำออกมาใช้งาน ซึ่งตู้อบฆ่าเชื้อแบบยูวี-ซี นี้เป็นเครื่องต้นแบบที่มอบให้แก่โรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ มีราคาอยู่ที่ตู้ละประมาณ 3 พันบาท สามารถต่อยอดให้เพิ่มประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่น หากต้องการฆ่าเชื้อได้รวดเร็วมากขึ้นก็อาจจะเพิ่มกำลังของหลอดไฟ ก็สามารถทำได้ เป็นต้น นอกจากจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิดแล้ว ยังมีราคาต้นทุนไม่สูง ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปทำเองได้ เพื่อนำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลหรือไว้ใช้ในครัวเรือน
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน กล่าวว่า ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี-ซี นี้ จะใช้ที่ห้องไอซียู ส่วนที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดทรัพยากรทางการแพทย์ แม้ว่าทางโรงพยาบาลหัวหินจะมีการเตรียมแผนสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้แล้วก็ตาม สำหรับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ในความดูแลของโรงพยาบาลหัวหิน ทุกคนมีอาการดีขึ้นทุกคน ไม่มีปอดบวม คิดว่าน่าจะเป็นข่าวดีประสบความสำเร็จในการรักษา ผู้ป่วยมีสุขภาพดีสามารถกลับบ้านได้หลายราย
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในเขตพื้นที่ อ.หัวหิน วันนี้ (30 มี.ค.) มีบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 121 คน ครบกำหนดกักตัวเอง (จบการติดตาม) แล้ว 55 คน คงเหลือบุคคลต้องเฝ้าระวัง 66 คน มีผู้ติดเชื้อสะสม 11 คน รักษาตัวอยู่ใน รพ. 9 คน (รพ.ในพื้นที่หัวหิน 7 ราย เข้าไปรักษา รพ.ใน กทม. 2 ราย) รักษาหาย และกลับบ้านแล้ว 2 คน ได้แก่ หญิงชาวอู่ฮั่น กับชายขับแท็กซี่