xs
xsm
sm
md
lg

ลุยเอง..อุทัยธานีผนึกกำลังตั้งจุดคัดกรองคนเข้า จว.ทุกทาง 24 ชม.สกัดโควิด-19 เข้าพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - ส.ส.-ส.อบจ.อุทัยธานีบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ลุยจัดทีมตั้งจุดตรวจเข้มวัดไข้สกัดไวรัสโควิด-19 ทั่วจังหวัด 24 ชั่วโมง ซื้อเครื่องตรวจแจกทุกจุด เตรียมหาเครื่องเทอร์โมสแกนตั้ง 3 จุดเสี่ยงใหญ่




นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พร้อมด้วยนางสาวปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ ส.อบจ.อุทัยธานี เขต 1 อำเภอเมือง ร่วมกับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่อำเภอเมือง เส้นทางเชื่อมผ่าน และอำเภอรอยต่อของอุทัยธานี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และภาคเอกชน ได้หารือกันถึงแนวทางสกัดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น เมื่อเย็นวานนี้ (17 มี.ค.) เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในจังหวัด

ในที่ประชุมหารือถึงแนวทางการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาสาสมัครกู้ภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ตั้งด่านตรวจวัดไข้ประชาชนที่เดินทางเข้า-ออกกระจายตามจุดต่างๆ ทั้งเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด และระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง


โดยทำการซื้อเครื่องตรวจวัดไข้ที่มีประสิทธิภาพตรวจวัดอุณหภูมิในร่างกาย หน้ากากอนามัย ถุงมือ กำลังคน อาหารและเครื่องดื่ม ประจำทุกจุดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนเครื่องละ 3 แสนบาทมาตั้งประจำจุดชุมชนใหญ่และจุดสุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 3 จุด เพื่อให้การป้องกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้ในจังหวัดอุทัยธานีลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด


นางสาวปานัดฌากล่าวว่า เราได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมที่จะบูรณาการหน่วยราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ร่วมกันในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งทุกหน่วยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย ไม่มีการดำเนินการผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ จะมีการตั้งด่านเพื่อขอตรวจวัดไข้ประชาชนที่เดินทางสัญจรเข้าออกภายในจังหวัด ซึ่งต้องเป็นไปตามความยินยอมตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากพบประชาชนรายใดมีไข้ตามข้อบ่งชี้ที่คาดว่าจะสุ่มเสี่ยง จะประสานส่งต่อไปให้สาธารณสุขจังหวัดฯ ตรวจสอบซักประวัติและตรวจสุขภาพร่างกายของบุคคลนั้นอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่ามีการเดินทางไปต่างประเทศมาหรือไม่ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่


ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ นั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกอย่างโดยการร่วมมือกันเอง เพราะรู้ดีว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ปัจจุบันค่อนข้างไม่เพียงพอ และเราอยากที่จะป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลเอาไว้ให้ดีที่สุดเพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ในภายหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีการระบาดเพิ่มหนักขึ้นหรือไม่ หรือจะลดน้อยลงอย่างไร

ดังนั้นเราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล จะไม่ให้ลงมาที่ภาคสนาม เพราะหากลงมาที่ภาคสนามจะมีความเหนื่อยล้า อาจจะมีผลในการรักษาในขั้นตอนต่อไป

“สิ่งที่อยากจะบอกว่าทำไมภาคเอกชนและประชาชนท้องถิ่นถึงต้องลงมาลงมือช่วยกันทำ เพราะมันต้องเป็นการบูรณาการร่วมกัน ช่วยกันทุกฝ่าย ทำได้ก็คือทำได้ก็คือต้องทำ” นางสาวปานัดฌากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น