ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมศุลกากร ร่วมกับกรมการค้าภายใน และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบหน้ากากอนามัยส่งออก ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หวั่นไม่ถูกต้องในช่วงวิกฤตโควิด-19 ล่าสุด ไม่พบความผิดปกติพร้อมส่งออกได้ทันที
วันนี้ (16 มี.ค.) นายนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย น.ส.พัตถาภรณ์ ไชยานุพงศ์ ผอ.กองจัดระบบราคาและปริมาณสินค้า 1 ผู้แทนกรมการค้าภายใน พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) และ พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิช ผู้กำกับ สภ.แหลมฉบัง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนบริษัทฯ เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ส่งออก และผู้แทนจากท่าเรือแหลมฉบัง ได้ร่วมกันตรวจสอบสินค้าส่งออกประเภท "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" จำนวน 4 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่ลานท่าเรือ C3 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
สำหรับการส่งออกในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้สำแดงสินค้าเป็น "ผ้าปิดจมูกใช้ทางการแพทย์" ปริมาณกว่า 3.2 ล้านชิ้น มูลค่า 5.1 ล้านบาท โดยใช้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน BOI ส่งออกไปยังปลายทางประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมหนังสืออนุญาตการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ของกรมการค้าภายใน และจากการเปิดตู้สินค้าตรวจสอบจากหลายหน่วยงานพบชนิดและปริมาณตรงตามที่สำแดงในใบขนสินค้าและใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
นายนิมิต เปิดเผยว่า บริษัท เอ็มเมอรัลด์ฯ ได้ส่งสินค้าออกเป็นประจำอยู่แล้ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งได้ผ่านการตรวจของศุลกากรมาโดยตลอด ซึ่งบริษัท เอ็มเมอรัลด์ฯ ได้สิทธิ BOI ซึ่ง BOI ได้ขออนุมัติบอร์ดการลงทุนนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตแล้วส่งออกไปเท่านั้น โดยมีอายุวัตถุดิบ 1 ปี ถ้า 1 ปีไม่ได้ส่งก็ต้องให้หยุดเพื่อเสียภาษี ซึ่งถ้าจะเสียภาษีต้องขอบอร์ด BOI เพื่อขอเสียภาษีศุลกากร แล้วขายไปได้เลย 30 วันแล้วมาชำระภาษี ซึ่งถ้าไม่ชำระก็จะถูกปรับ 4 เท่าของงราคาของและมีโทษจำคุกด้วย ทั้งหมด BOI เป็นผู้ดูแล ส่วนศุลกากรจะเป็นผู้ดูแลที่ประตูประเทศให้นำเข้า ส่งออก แล้วป้อนข้อมูลให้ BOI สำหรับบริษัทเอ็มเมอรัลด์ฯ เป็นผู้รับจ้างผลิตหน้ากากอนามัย แต่ลิขสิทธิ์เป็นของบริษัทต่างประเทศ
การตรวจสินค้าในวันนี้ ศุลกากรไม่ห่วงบริษัทที่แจ้งว่าเป็นหน้ากากอนามัย แต่ห่วงบริษัทที่แจ้งเป็นสินค้าประเภทอื่น แล้วลักลอบนำหน้ากากอนามัยส่งออกไปนอกประเทศ ซึ่งทางศุลกากรต้องทำการเอกซเรย์ตู้สินค้าขาออกเกือบทุกตู้ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ซึ่งเครื่องเอกซเรย์จะต้องทำงานหนักเป็นอย่างมาก ส่วนตู้ที่แสดงว่าเป็นหน้ากากอนามัยก็จะต้องตรวจสอบจำนวน และคุณภาพ ในเดือนที่ผ่านมา ศุลกากรสามารถตรวจจับบริษัท 1 ราย ดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่ส่งสินค้าเกินจำนวนใบอนุญาตไปจำนวน 6,000 ชิ้น นอกจากนั้นยังไม่พบว่ามีการกระทำผิดในเรื่องอื่นๆ
ด้านตัวแทนบริษัท กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามระเบียบ แต่เนื่องจากทางกรมการค้าภายใน ออกระเบียบอย่างเคร่งครัดในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการส่งออกเพื่อดำเนินการพิจารณาอนุมัติ จนได้รับใบอนุญาต จึงสามารถส่งออกได้ โดยการส่งออกครั้งนี้มีหลากหลายชนิด เช่น ทั้งแบบธรรมดา แบบใช้ในทางการแพทย์ และแบบพรีเมียม โดยไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
“ในการตรวจสอบในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ พร้อมและยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบสินค้า และพร้อมชี้แจงทุกขั้นตอนเพื่อความสบายใจในทุกฝ่าย ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ให้การช่วยเหลือหน่วยงานรัฐที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัย เช่น ให้แก่องค์การอาหารและยา (อย.) กรมการค้าภายใน โดยมอบให้กว่าล้านชิ้นแล้ว และในครั้งนี้มีออเดอร์จากต่างประเทศ ทางบริษัทฯ จึงผลิตและส่งออกให้ดังกล่าว” ตัวแทนบริษัท กล่าว