ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ฝุ่นควันเชียงใหม่ยังไม่คลี่คลาย แม้ฝนตกและลมกระโชกแรงช่วงคืนที่ผ่านมา โดยส่งผลแค่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ พบค่า PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศยังเกินมาตรฐานต่อเนื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า คืนที่ผ่านมา (15 มี.ค. 63) เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ของจังวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ของอำเภอหางดงด้วย แต่ลักษณะพายุฝนฟ้าคะนองครั้งนี้มีลมกระโชกแรงบางพื้นที่กับมีฝนตกแต่เป็นปริมาณฝนเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งชาวเชียงใหม่ต่างก็ลุ้นให้พายุฝนฟ้าคะนองช่วยแก้ไขปัญหาหมอกควัน และไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่องมานานเกือบ 1 สัปดาห์ แต่ปรากฏว่าเช้านี้กลับพบว่าพายุฝนและลมคืนที่ผ่านมานั้นเพียงช่วยบรรเทาให้สถานการณ์ดีขึ้นได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพหมอกควันนั้นสะสมมานานและเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างไม่เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เองแต่เป็นทั่วทั้งภาคเหนือ ปริมาณฝนและลมที่ตกลงมายังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควันลง
เช้านี้ยังพบว่าตัวเมืองเชียงใหม่ยังถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันหนาทึบ แม้จะดีขึ้นจากวานนี้เล็กน้อย แต่ค่าฝุ่นละออง หรือฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังสูงอยู่ในระดับวิกฤตต่อเนื่องที่ค่ามลพิษของเว็บไซต์ CMU CCDC หรือ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Climate Change Data Center Chiang Mai University) รายงานสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่เช้านี้เมื่อเวลา 8 นาฬิกาข้อมูลรายชั่วโมงพบว่าที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ โรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่ วัดค่า PM 2.5 ได้สูงถึง 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในอีกหลายจุดอยู่ระหว่าง 100-150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่สูงสุดของจังหวัดเชียงใหม่เช้านี้วัดได้ 380 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่โรงพยาบาลฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
ข้อมูลจากเว็บไซต์ air visual ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลกพบว่าที่จังหวัดเชียงใหม่แม้จะเลื่อนระดับลงมาอยู่ที่อันดับ 2 ของโลกแต่ก็ยังอยู่ในระดับหัวตาราง เมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุด เช้านี้เมื่อเวลา 8 นาฬิกาพบว่าค่า PM 2.5 ของตัวเมืองเชียงใหม่วัดได้ 111.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 180 US AQI อย่างไรก็ตาม จากฝนที่ตกลงมาคืนที่ผ่านมาก็ส่งผลดีต่อสถานการณ์ไฟป่า เช้านี้พบว่าจุดฮอตสปอตจากการเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 มี.ค. 63 (รอบเช้า) จำนวน 25 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 13 จุด ป่าอนุรักษ์ 11 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 1 จุด