ศูนย์ข่าวศรีราชา- ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดใช้ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ A เพื่อเป็นการสนับสนุนการขนส่งทางลำน้ำระหว่างท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งของประเทศ ด้าน รมช.เผยให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังเรือสินค้าที่จะเข้าเทียบท่ามาก พร้อมเพิ่มจำนวนประเทศกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เรือเข้าเทียบท่าจาก 4 ประเทศ เป็น 18 ประเทศ ป้องกัรไวรัสโควิด-19
วันนี้ (13 มี.ค.) ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) พร้อมด้วย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายบัณฑิต สาครวิศวะ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง
เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เผยถึงโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับท่าเรือแหลมฉบัง สนองตอบนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรางและทางน้ำ และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการให้ทัดเทียมกับท่าเรือชั้นนำในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนนโยบายสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนเป็นทางรางและทางลำน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดปัญหาด้านการจราจร ลดการใช้พลังงาน อีกทั้งส่งเสริมการขนส่งทางเรือชายฝั่งให้เป็นรูปธรรม และสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ รวมถึงการขนส่งสินค้าทางลำน้ำของเอกชน และท่าเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญในภาคใต้ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี กับท่าเรือแหลมฉบัง
ท่าเทียบเรือ A มีหน้าท่าเป็นรูปตัว L มีความยาวหน้าท่าที่ 125 เมตร และ 120 เมตร มีความลึกหน้าท่า 10 เมตร มีขีดความสามารถรองรับเรือชายฝั่งขนาดระวางบรรทุก 3,000 DWT ขนส่งตู้สินค้าได้คราวละ 200 DWT และขนาดระวางบรรทุก 1,000 DWT ขนส่งตู้สินค้าได้คราวละ 100 DWT ได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน มีความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่หน้าท่าและหลังท่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ปั้นจั่นหน้าท่าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) และปั้นจั่นเรียงตู้สินค้าในลาน (Mobile Harbor Crane) อย่างละ 1 ตัว
พร้อมทั้งรถคานเคลื่อนที่ล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Crane : RTG) จำนวน 2 คัน เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 TEU ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% ซึ่งปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าขนส่งทางเรือชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสนับสนุนการดำเนินงาน ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการตู้สินค้า และระบบบริหารจัดการลานวางตู้สินค้า ระบบจัดการประตูเข้าออก ระบบบริหารการทำงานเครื่องมือทุ่นแรง เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
ขณะที่ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่โครงการนี้เป็นโครงการที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าโดยเรือชายฝั่งที่มาใช้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบังยังไม่มีท่าเทียบเรือชายฝั่งที่เปิดให้บริการเป็นการเฉพาะ
ดังนั้น การเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จะช่วยให้ผู้ประกอบการเรือชายฝั่งได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยลด Waiting Time ของเรือ นอกจากนั้น การขนส่งโดยเรือชายฝั่งเป็นการขนส่งที่ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่สามารถลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจร และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
นอกจากนี้ ดร.อธิรัฐ ยังเผยถึงนโยบายในการเฝ้าระวังไวรัสโวิด-19 ว่า ทางกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังเรือสินค้าที่จะเข้าเทียบท่ามากยิ่งขึ้น และได้เพิ่มจำนวนประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะไม่ให้เรือเข้าเทียบท่าจาก 4 ประเทศ เป็น 18 ประเทศ และกำหนดให้เรือที่จะเข้าเทียบท่าขนถ่ายสินค้ามายังเรือแหลมฉบังจะต้องมีแพทย์ประจำเรือ รวมทั้งส่งรายชื่อลูกเรือ และผลการตรวจร่างกายล่วงหน้าก่อนอย่างน้อยก่อนเรือเข้าเทียบท่าเป็นเวลา 24 ชม. และวันนี้ จะได้เดินทางไปตรวจสอบมาตรการในท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย