xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณรอบใหม่ เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกิจการผลิตปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ
ผู้จัดการออนไลน์ - “สนธิรัตน์” โหมงานตรวจเยี่ยมแหล่งเอราวัณ จ่อเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่พื้นที่อ่าวไทย เม.ย.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจากเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

วันนี้ (6 มี.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สื่อมวลชน และคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกิจการผลิตปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ พร้อมทั้งประกาศแผนการเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ระบุสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนเมษายน 2563 นี้


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณครั้งนี้ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย โดยแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมแห่งแรกของไทย ซึ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนคนไทยและประเทศชาติตั้งแต่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

สร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย รวมถึงสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในรูปแบบค่าภาคหลวง ฝมาแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นงบประมาณแผ่นดินพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยทั้งประเทศมาเกือบ 40 ปีแล้ว

“ถือเป็นโอกาสในการศึกษาเรื่องศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2563 นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศได้มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ และรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง” นายสนธิรัตน์ กล่าวและว่า

ความคืบหน้าขณะนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดพื้นที่แหล่งปิโตรเลียม การบริหารจัดการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เปิดให้เอกชนเข้ามาศึกษาข้อมูลไปจนถึงประกาศผู้ชนะการประมูล คาดว่าจะมีการลงนามกับผู้ชนะการประมูลประมาณต้นปี 2564

จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงต่อยอดเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท หากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม ประโยชน์ที่ตามมาไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หมายถึงความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคง ขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่องอื่นเติบโต เช่น ธุรกิจสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ร้านอาหาร โรงแรม และภาคขนส่งอีกด้วย


ปัจจุบัน กิจการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 1,257 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสท หรือก๊าซธรรมชาติเหลว เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 44,519 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 27,324 บาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ (แปลงสำรวจหมายเลข 10, 11, 12 และ 13) จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 จากนั้นจะบริหารจัดการภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูลเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น