xs
xsm
sm
md
lg

ไม่หวั่นวิกฤตแล้ง! ผุด “ไร่สตรอว์เบอร์รี” ระบบน้ำหยดถิ่นภูเขาไฟบุรีรัมย์ ทำเงินไร่ละ 3 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุรีรัมย์ - หนุ่มวัย 38 ปีไม่หวั่นวิกฤตแล้ง ผุด “ไร่สตรอว์เบอร์รี” ระบบน้ำหยดถิ่นภูเขาไฟบุรีรัมย์ ทำเงินไร่ละ 3 แสน ทั้งเนรมิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้นักท่องเที่ยวเซลฟีและเก็บสตรอว์เบอร์รีสดๆ ในไร่ เผยไม่ย่อท้อต่อภัยแล้งและอากาศร้อน หาความรู้ทดลองปลูกจนสำเร็จ

วันนี้ (27 ก.พ.) ถึงแม้ปีนี้หลายพื้นที่ในจังหวัดภาคอีสาน รวมทั้งจังหวัดบุรีรัมย์จะประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้แหล่งน้ำลำคลองต่างๆ มีสภาพตื้นเขิน แห้งขอด ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาชีพทำการเกษตร แต่ นายสิทธิพงษ์ ธรรมชาติอุดม อายุ 38 ปี หนุ่มชาว จ.เชียงใหม่ กลับไม่หวั่นต่อวิกฤตภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้ผุด "ไร่สตรอเบอรี่ลาวา บุรีรัมย์" พันธุ์พระราชทาน 80 บนเนื้อที่ 3 ไร่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ แบบระบบน้ำหยด โดยใช้วิธีเพาะพันธุ์กล้าสตรอว์เบอร์รีที่ จ.เชียงใหม่ จนมีอายุประมาณ 3-4 เดือน แล้วนำมาลงแปลงปลูกที่บุรีรัมย์ อีกประมาณ 1 เดือนครึ่งก็ออกผล สามารถเก็บผลผลิตขายได้




ทั้งนี้ยังได้เนรมิตตกแต่งพื้นที่รอบไร่สตรอเบอรี่ลาวาดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม เซลฟี และยังเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถเข้าไปเก็บสตรอว์เบอร์รีสดๆ จากต้นได้อีกด้วย โดยจะเก็บค่าเข้าชมเพียงคนละ 20 บาทเท่านั้น หลังจากทดลองปลูกมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา มีประชาชน และนักท่องเที่ยวแวะเข้าไปเที่ยวชมและซื้อสตรอว์เบอร์รีอย่างต่อเนื่อง

นายสิทธิพงษ์บอกว่า เดิมมีอาชีพเป็นพ่อค้าเร่ขายเครื่องประดับตามจังหวัดต่างๆ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่กับครอบครัว ประกอบกับรายได้ไม่มั่นคง จากนั้นจึงได้นำความรู้จากที่เคยช่วยทำไร่สตรอว์เบอร์รีที่ จ.เชียงใหม่ มาทดลองปลูกที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ประมาณ 6 ปี แต่ระยะหลังมีคนหันมาปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ จ.นครราชสีมาจำนวนมาก จึงลองแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ จนพบว่าบุรีรัมย์กำลังเป็นจังหวัดที่เติบโตด้านการท่องเที่ยว แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งและสภาพอากาศร้อนก็ตาม จากนั้นเมื่อเดือน ต.ค. 2562 จึงได้มาลองเช่าพื้นที่ริมถนนสายบุรีรัมย์-นางรอง บริเวณ ต.บ้านบัว อ.เมืองบุรีรัมย์ จำนวน 3 ไร่ เพื่อทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 จำนวน 20,000 ต้น


นายสิทธิพงษ์ยอมรับว่า ช่วงแรกประสบปัญหาอุปสรรคเพราะเป็นพื้นที่แห้งแล้งและอากาศค่อนข้างร้อน แต่สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็น จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้และเทคนิควิธีต่างๆ ลองผิดลองถูกหลายวิธีจนเป็นที่มาของการปลูกสตรอว์เบอร์รีระบบน้ำหยด จนประสบผลสำเร็จสามารถเก็บผลผลิตขายได้เฉลี่ยไร่ละกว่า 300,000 บาท หักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรประมาณไร่ละ 100,000 บาท แต่จะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ในห้วงเดือน ก.ย.-เม.ย.เท่านั้น เพราะช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. เป็นช่วงพักบำรุงรักษาต้น

ส่วนราคาขายหากเป็นสตรอว์เบอร์รีสดจะขายอยู่ที่ขีดละ 50-60 บาท หรือกิโลกรัมละ 500-600 บาท หากใครต้องการจะเข้าไปเก็บเองสดๆ จากต้นจะคิดค่าบริการคนละ 20 บาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีน้ำสตรอว์เบอร์รีคั้นสด สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง เนยสตรอว์เบอร์รี และไวน์สตรอว์เบอร์รีให้ลูกค้าได้เลือกซื้อหาไปรับประทานอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น