นครสวรรค์ - ทีมสัตวแพทย์เร่งผ่าตัดช่วยชีวิตละอง รหัส tt15 ที่กรมอุทยานฯ ปล่อยคืนป่าเมื่อปี 60 แต่โชคร้ายถูกยิงเจ็บ-ขาขาด จนต้องวิ่งหนีตายมาใกล้อุทยานฯ แม่วงก์ เผยหากรักษาหายอาจต้องให้อยู่ในกรงเลี้ยงตลอดช่วงชีวิต
วันนี้ (22 ก.พ.) นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาพบละอง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บขาหน้าขวา และขาหลังขวาขาด จึงได้จับไว้ให้ช่วยประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนด้านสัตว์ป่ามารับและให้การช่วยเหลือด่วน
สำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จึงได้มอบหมายให้ นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการ และ นางสาวลลิตา อำนวยผล นักวิชาการสัตวบาล ออกไปตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้ง และประสานเจ้าหน้าที่-สัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งเข้าร่วมรับและตรวจสอบละองตัวดังกล่าว
เบื้องต้นพบเป็นละองเพศผู้ อายุประมาณ 4-5 ปี มีแท็กติดที่หู รหัส tt15 ได้รับบาดเจ็บตรงขาหน้าขวา และขาหลังขวาขาดในลักษณะที่มีบางส่วนของขาห้อยติดอยู่สูงจากข้อขาประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะบาดแผลขาหน้า และขาหลังขวาขาด กระดูกฝ่าเท้าและกระดูกนิ้วเท้า (metacarpal and etatarsal) แตกละเอียดเป็นหลายชิ้น (multi fracture) จึงคาดว่าน่าจะถูกยิงก่อนที่จะวิ่งมาอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ม.ว 4 แม่เรวา) พิกัดที่ X0536074 Y1758926 จึงได้ทำการล้อมจับและนำละองมาปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่หน่วยพิทักษ์ฯ ม.ว 4 (แม่เรวา)
หลังจากนั้นคณะสัตวแพทย์จึงได้ให้ยาลดอักเสบ แก้ปวด และยาปฏิชีวนะ เป็นการเบื้องต้น แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ต่อมาคณะสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 สัตวบาล และสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ร่วมกันผ่าตัดละองที่ได้รับบาดเจ็บ โดยได้ตัดขาหน้าขวาบริเวณข้อเท้า (carpal joint) แต่หลังจากตัดขาหน้าเสร็จความดันของสัตว์ลดต่ำลงเสี่ยงต่อภาวะช็อก คณะสัตวแพทย์ประเมินสภาพแล้วจึงได้ทำแผล ให้ยา และให้ยาฟื้นสลบ โดยยังไม่ตัดขาหลัง
ขณะนี้อยู่ระหว่างเฝ้าดูอาการฟื้นสลบ หากสภาพร่างกายสัตว์พร้อม แผลไม่ติดเชื้อลุกลาม และประเมินการใช้ขาของละอง จึงจะวางแผนตัดขาหลังที่ตำแหน่งข้อเท้าหลัง (tarsal joint) อีกครั้ง ซึ่งหลังการผ่าตัดอาจจะต้องอยู่ในกรงเลี้ยงตลอดไป
สำหรับละองตัวนี้เป็นละอง 1 ในจำนวน 30 ตัวที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตามแผนปฏิบัติงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อปี 2560