xs
xsm
sm
md
lg

สาวลาวครั่งบ้านโคกหม้อรวมกลุ่มทำผ้าทอลายโบราณประจำถิ่น ยกระดับราคาสร้างรายได้หลักแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ ฝีมือจากกลุ่มแม่บ้านเชื้อสายลาวครั่ง ร่วมกันสืบทอดรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณประจำถิ่นสร้างรายได้เป็นแสน


วันนี้ (19 ก.พ.) กลุ่มแม่บ้านเชื้อสายลาวครั่งได้รวมตัวกันเพื่อร่วมกันสืบทอดรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณประจำถิ่น เพื่อหวังให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รับไว้สานต่อ ทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ครอบครัว โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ” ซึ่งปัจจุบันผ้าทอบ้านโคกหม้อเป็นที่นิยมของกลุ่มคนรักผ้าทอ ซึ่งมีทั้งกลุ่มลูกค้าผ้าทอลายโบราณ และกลุ่มลูกค้าผ้าทอขาวม้า ทั้งหญิงและชาย และด้วยเอกลักษณ์พื้นเป็นสีแดงซึ่งเป็นสีประจำถิ่นของลาวครั่ง ย้อมด้วยสีเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสีที่ได้จากธรรมชาติ และราคาจำหน่ายที่ไม่สูงมากนัก จึงทำให้มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนงานฝีมือกันอย่างไม่ขาดสาย


นางกำไร เริงเกษกรรม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ หมู่ที่ 3 ตำบลทัพทัน อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เล่าประวัติของกลุ่มว่า เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของแม่บ้านในละแวกใกล้เคียงที่ยังรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เป็นชนชาวลาวครั่ง ต่อมาสำนักงานเกษตรอำเภอทัพทันได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ มีสมาชิก 35 คน มีการนำเส้นไหม ไหมประดิษฐ์ และเส้นฝ้าย มาทอแบบกี่ทอมือ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผ้ามัดหมี่ตีนจก ที่มีลวดลายโบราณประจำถิ่นบ้านโคกหม้อ เช่น ลายขอนาค ลายขอนก ลายพาดคลอง ลายคลองเหลือง ลายคันร่ม ลายดอกแก้ว เป็นต้น


ส่วนสีนั้น จะมีสีพื้นเป็นสีแดงซึ่งเป็นสีประจำถิ่นของลาวครั่ง ย้อมด้วยสีเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสีที่ได้จากธรรมชาติ ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 1,500-3,500 บาท นอกจากนี้ยังทอเป็นผ้าขาวม้าซึ่งขายดีเป็นพิเศษ เพราะลูกค้านิยมสั่งซื้อเป็นของฝาก ของชำร่วยเนื่องจากมีสีสันที่สวยงาม สีไม่ตก สดนานไม่ซีดง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาถูก เพียงผืนละ 200 บาท บรรจุกล่องสวยงาม และยังนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ตัดเป็นเสื้อ กางเกง ย่าม จึงทำให้เป็นที่นิยมของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีผ้าโสร่งสำหรับผู้ชาย ผ้าคลุมไหล่ ผ้าสีพื้น เมตรละ 50 บาท สำหรับนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูป


โดยในปีที่ผ่านมากลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมาณ 100,000 บาท ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจะทำให้คนในชุมชนโดยเฉพาะคนสูงอายุที่มาทอผ้า ค้นหมี่ มัดหมี่ ย้อม แต้มสี มีรายได้ มีความสุข และได้มีการส่งต่อมรดกทางปัญญาให้แก่รุ่นลูก รุ่นหลานที่เข้ามาเรียนรู้ที่กลุ่ม อีกทั้งกลุ่มยังได้รับการฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพสมาชิกของกลุ่มให้มีการพัฒนาด้านลวดลายผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมด้านการตลาดจากหลายๆ หน่วยงาน เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอทัพทัน สำนักงานพัฒนาชุมชน พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอุทัยธานี ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ กาญจนบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น