นครสวรรค์/อุทัยธานี - ชาวเก้าเลี้ยวทำเก๋ แจกหอมแดงและน้ำตาลทายให้แก่คู่รักที่จดทะเบียนสมรสในวัน “วาเลนไทน์” สื่อให้เห็นถึงชีวิตคู่ที่มีทั้งหอมและหวาน ด้านอุทัยธานีจัดจดทะเบียนให้คู่สมรสชาวกะเหรี่ยงโปว์ พร้อมจัดส่งเสริมอัตลักษณ์วิถีส่งเสริมการท่องเที่ยว
วันนี้ (14 ก.พ.) ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการจัดงานจดทะเบียนสมรสหมู่ “เก้าเลี้ยว เกี่ยวรัก” เนื่องในวันแห่งความรัก โดยมีคู่บ่าวสาวชาวอำเภอเก้าเลี้ยวแสดงความจํานงเข้าร่วมงานดังกล่าว 10 คู่ และคู่บ่าวสาวทั้งหมดได้มีการแต่งกายชุดไทยย้อนยุค 8 คู่ แต่งชุดไทยทรงดำ 1 คู่ และใส่กี่เพ้าจีน 1 คู่ ซึ่งแสดงถึง 3 กลุ่มชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเก้าเลี้ยวที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
โดยมีนายรัฐพล ธุระพันธุ์ นายอำเภอเก้าเลี้ยว เป็นสักขีพยานในการจดทะเบียนสมรส พร้อมกับกล่าวอวยพรให้แก่คู่สมรสจงครองรักครองคู่กันอย่างยืนยาวตลอดไป ยังมีการทำพิธีมอบหอมแดง และน้ำตาลทรายให้คู่ที่มาจดทะเบียนสมรสไว้เป็นที่ระลึกด้วย โดยเป็นการสื่อความหมายให้คู่บ่าวสาวใช้ชีวิตคู่ไปด้วยความราบรื่นสดชื่นหอมหวลดังเช่นหอมแดง และให้มีแต่ความหวาน ในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเหมือนเช่นน้ำตาลทรายที่คอยเติมความหวานให้กันทุกเวลา ซึ่งในส่วนของหอมแดงนั้น คู่รักที่ได้รับสามารถนำไปเพาะปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อๆ ไปได้ด้วย
ด้านจังหวัดอุทัยธานี ที่เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงแม่ดีน้อย ตำบลแก่นมะกรูด อำกอบ้านไร่ นายอลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมอัตลักษณ์และภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กิจกรรม มนต์รักสตรอว์เบอร์รีครั้งที่ 3 ในการจดทะเบียนให้แก่คู่สมรสชาวกะเหรี่ยงโปว์ ในวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ (Valentine) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดอุทัยธานี ตลอดจนภาคีเครือข่ายชาวกระเหรี่ยงหลายชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยงโปว์ ละว้า ขมุ ร่วมเป็นสักขีพยานความรักในครั้งนี้
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อมอบความรักและสร้างความสุขให้ชาวกะเหรี่ยงในเทศกาลแห่งความรัก วันวาเลนไทน์ รวมไปเพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของตำบลแก่นมะกรูด จังหวัดอุทัยธานี ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร สตรอว์เบอร์รีแก่นมะกรูด และส่งเสริมอัตลักษณ์ ศิลปะ หัตถกรรม ประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่า เพื่อให้ราษฎรบนพื้นที่สูงมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิสังคมภายใต้โครงการส่งเสริมอัตลักษณ์และภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน