กาญจนบุรี - เจ้าของฟาร์มชื่อดัง อ.บ่อพลอย หนุนโครงการ “โคขุนสร้างชาติ” แนะเกษตรกรชาวกาญจน์จดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วม พร้อมชวนรับฟังรายละเอียดโครงการจากทีมงาน รมช.เกษตรฯ 15 ก.พ.นี้ ที่ “ทศพล ฟาร์ม”
จากกรณีรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ กับ ธ.ก.ส.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติซ้ำซากในหลายพื้นที่ของประเทศ จึงมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้ประกอบอาชีพสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดย 1 ในนั้นคือ “โครงการโคขุนสร้างชาติ”
ล่าสุด วันนี้ (13 ก.พ.) นายทศพล พาณิชย์อำนวยสุข หรือโก้ยุ่ง อายุ 53 ปี เจ้าของ “ทศพล ฟาร์ม” เลขที่ 38 หมู่ 11 ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตนเปิดฟาร์มเลี้ยงโคพันธุ์บราห์มัน และกระบือ บนเนื้อที่กว่า 200 ไร่มาได้ประมาณ 8 ปีแล้ว หลักแนวคิดง่ายๆ ก็คือว่า เราอยากหาอะไรมาซัปพอร์ตในที่ดินของเรา ก็เลยลองทำการเกษตร สมมติว่าเราปลูกข้าวลงดินไป 1 เม็ด เราได้มา 100 เม็ด แต่เกษตรกรก็ยังไม่รวย อ้อย 1 ลำ ปลูกได้ 5 กอ กอละ 10 ลำ หรือปลูก 1 ลำได้ 50 กอ เกษตรกรก็ยังไม่รวย ทำอย่างไรเกษตรกรก็ยังไม่รวยอยู่ดี
ต่อมา ลองมาเลี้ยงไก่และวัว สุดท้ายการลองผิดลองถูกมาจบอยู่ที่การเลี้ยงวัว ซึ่งการเลี้ยงวัวก็จะมีโมเดลให้แก่เกษตรกรง่ายๆ คือว่า ถ้าเกษตรกรมีที่ดินอยู่ประมาณ 30 ไร่ แล้วเลี้ยงวัวประมาณ 12 ตัว เมื่อลูกวัวออกมาครั้งแรก จำนวน 12 ตัว เกษตรกรก็อย่าเพิ่งขาย และถ้าหากลูกวัวออกมาครบ 36 ตัว เกษตรกรจึงนำไปขาย โดยให้ขายเดือนละ 1 ตัว โดยเฉพาะวัวที่เกิดก่อน ซึ่งจะมีรายได้มากถึงเดือนละ 3-5 หมื่น ซึ่งตนมีแนวคิดเช่นนี้ ฟาร์มของตนจึงมีการพัฒนาขึ้นมาใหญ่ขึ้น ปัจจุบัน ฟาร์มของตนมีโคพันธุ์บราห์มันอยู่ประมาณ 190 ตัว ส่วนกระบือมีอยู่ จำนวน 32 ตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย มองอย่างไรกับ “โครงการโคขุนสร้างชาติ” ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โก้ยุ่ง ตอบว่า สำหรับโครงการนี้ตนเป็นตัวแทนผู้ซื้อในจังหวัดกาญจนบุรี โดยโครงการเป็นโครงการที่ดี ส่วนตัวแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจ มีเงินใช้ในระยะสั้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว อีกประมาณ 4 เดือนเท่านั้นเกษตรกรก็จะมีรายได้แล้ว
สำหรับหลักการของโครงการคือ ให้เกษตรกรที่ให้ความสนใจรวมตัวกัน กลุ่มละ 10 คน จากนั้นให้ไปจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจที่เกษตรอำเภอ เมื่อได้รับอนุญาต ก็ไปยื่นให้ปศุสัตว์อำเภอ เมื่อปศุสัตว์รับรอง ตนในฐานะเป็นตัวแทนผู้ซื้อโคขุนก็จะดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อรับซื้อคืนจาก ธ.ก.ส.จากนั้นทาง ธ.ก.ส.จึงจะปล่อยเงินให้กลุ่มเกษตรกร
สำหรับวิธีการปล่อยเงินนั้น ธ.ก.ส.จะปล่อยให้เป็นวัวและอาหารแทน โดยเกษตรกรจะได้รับเฉพาะเงินที่เป็นส่วนต่างเท่านั้น โดยโมเดลคือ วิสาหกิจ 1 กลุ่ม มี 10 คน เกษตรกรจะได้คนละเงิน 1 ล้านบาท วัวตัวละ 5 หมื่นบาท นั่นหมายถึงเกษตรกรจะได้วัวคนละ 20 ตัว เมื่อวัวขุนได้น้ำหนักตามที่กำหนด ก็จะมีการทยอยรับซื้อโคขุนจากเกษตรกรกลุ่มละประมาณ 50 ตัว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไปหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 20,000-25,000 บาทในแต่ละเดือน
สำหรับแผนการเรื่องการตลาดนั้นคือ เราเป็นตัวแทนคอกกลางระดับจังหวัด เมื่อซื้อแล้วก็จะส่งไปยังคอกกลางที่ส่วนกลาง เพื่อส่งไปขายที่ประเทศจีน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับประเทศจีนไปแล้ว
ทั้งนี้ นายทศพล พาณิชย์อำนวยสุข หรือโก้ยุ่ง ยังฝากไปถึงเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการว่า หากเกษตรกรกลุ่มใดไม่มีพื้นที่ในการสร้างโรงเรือน สามารถมาพบตนได้เลย ตนยินดีจะมอบพื้นที่ที่อยู่รอบฟาร์มให้สร้างโรงเรือนได้ หรือหากขาดเหลืออะไรตนจะช่วยจัดการให้
สำหรับวันเสาร์ที่ 15 ก.พ.เวลาประมาณ 15.30 น.จะมีคณะของท่านประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้ข้อมูลเพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการให้เกษตรได้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง โดยในวันดังกล่าวคาดว่าจะมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มาร่วมรับฟังมากกว่า 200 คน
ด้าน ผอ.ร.ร.กาญจนานุเคราะห์ หนุน “โครงการโคขุนสร้างชาติ” ชวนเพื่อนสมาชิกครูกาญจน์และทั่วประเทศร่วมจดทะเบียนวิสาหกิจ
ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ผอ.โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ และประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี เปิดเผยขณะไปเยี่ยมชม ทศพล ฟาร์ม ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ว่า การที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนโครงการโคขุนสร้าง ตนมองว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะว่าการเข้าถึงทุนของเกษตรกร หรือหมู่บ้านมันค่อนข้างเข้าถึงยาก โดยเฉพาะครั้งนี้รัฐบาลได้ทำให้เกิดวิสาหกิจชุมชน และมาอุดหนุนเรื่องเงินทุนดอกเบี้ยระยะสั้นให้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรที่อยู่ตามหมู่บ้านแถว อ.ห้วยกระเจา เลาขวัญ บ่อพลอย
โดยเฉพาะอำเภอบ่อพลอย ซึ่งเป็นบ้านเกิด มีพื้นที่ที่เหมาะมากในการเลี้ยงสัตว์ แต่ว่าเกษตรกรเข้าถึงทุนยาก เมื่อไม่มีทุนก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งบริเวณหลังบ้านของตนพอมีที่ดินว่างอยู่ ซึ่งคนที่กำลังว่างงานหรือคนสูงอายุก็สามารถมาเลี้ยงได้ ถ้าหากเข้าถึงทุน ได้วัวบ้านละ 5-10 ตัว และจะต้องมีแผนธุรกิจเพื่อซัปพอร์ตในเรื่องของอาหาร รวมทั้งเรื่องการตลาด และควบคุมราคาโดยการประกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
หากโมเดลนี้ขยายไปทั้งประเทศ ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศก็จะเกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการส่งเสริมที่รัฐบาลทำมาถูกทาง และจะทำให้สามารถสร้างชาติได้ ตนยินดีที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าว และส่วนตัวจะขอเข้าร่วมโครงการด้วย
ซึ่งขอเชิญชวนคุณครูที่เป็นสมาชิกออมทรัพย์กาญจนบุรี หรือสมาชิกครูทั้งประเทศ วันนี้เราไปทำงาน เช้าเราก็เอาหาหารทิ้งไว้ให้วัว เย็นเรากลับมา เราก็มาให้อาหารวัว ซึ่งจะทำให้เรามีรายได้ ที่สำคัญจะทำให้เรามีความสุขด้วย