ภูมิภาค - ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งอนุญาตให้คดีที่ น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ที่ยื่นฟ้อง บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
วันนี้ (11 ก.พ.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า จากการที่ น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ เป็นโจทก์ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน 12 หมู่บ้าน ของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ยื่นฟ้อง บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย ต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยมีว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน คณะทำงานสำนักงานสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ เป็นทนายความของกลุ่ม บัดนี้ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว และนัดชี้สองสถานเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 นี้
การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ภายใต้ข้อเท็จจริงหรือกฎหมายเดียวกัน จึงให้มีโจทก์เพียงคนเดียวเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรม แต่ผลของคำพิพากษาในคดีจะผูกพันถึงกลุ่มบุคคลที่ได้รับการดำเนินคดีแทนด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา และลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินคดีให้น้อยลง ตลอดจนทำให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ
คดีนี้มีกลุ่มผู้เสียหายเป็นชาวบ้านนับหมื่นคน จาก 12 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านเขาตะพานนาก หมู่ที่ 3 บ้านเขาดิน หมู่ที่ 4 บ้านจิตเสือเต้น หมู่ที่ 7 บ้านหนองขนาก หมู่ที่ 8 บ้านนิคม หมู่ที่ 9 บ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และหมู่ที่ 1 บ้านวังชะนาง หมู่ที่ 4 บ้านด่านช้าง หมู่ที่ 5 บ้านวังชะนางใต้ หมู่ที่ 7 บ้านทุ่งนางงาม หมู่ที่ 8 บ้านดงหลง หมู่ที่ 10 บ้านหนองแสง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
ในคำฟ้องระบุว่า หมู่บ้านของโจทก์และสมาชิกกลุ่มตั้งอยู่รายรอบพื้นที่เขตประทานบัตรและเขตเหมืองแร่ของบริษัทอัคราฯ โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีอาชีพทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง เป็นผู้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจากคลองล่องหอย คลองสายรุ้ง และคลองธรรมชาติ น้ำซับจากป่าน้ำซับ ใช้บ่อน้ำตื้นและบ่อบาดาลในชุมชน และเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ประทานบัตรของจำเลย
โจทก์และสมาชิกกลุ่มเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำในเขตประทานบัตรของจำเลย ทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย ทรัพย์สิน และวิถีชีวิตเกษตรกรรมถูกทำลาย รวมทั้งถูกละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการประกอบกิจการของจำเลย เป็นแหล่งกำเนิดหรือก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษต่างๆ ออกสู่ภายนอก เช่น ฝุ่นละอองโลหะหนักที่มีพิษ สารหนู แมงกานิส เหล็ก สารไซยาไนต์ ที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่และแต่งแร่ทองคำและเงินของจำเลยโดยตรง
โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยมีสารพิษในร่างกาย ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยได้รับทุกขเวทนาด้านร่างกายและจิตใจ ค่าเสื่อมสุขภาพด้านจิตใจ ทำให้หวาดกลัวและหวั่นวิตกจากการเกิดโรคจากสารพิษ ค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในครัวเรือน เนื่องจากทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในการใช้แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตเกษตรกรรมถูกทำลายและการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 1,588,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินต้นดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังขอให้จำเลยจ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ ประเพณี และวิถีชีวิตเพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียไป เป็นเงิน 50,000,000 บาท อีกทั้งขอให้จำเลยแก้ไขและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่โดยรอบประทานบัตรเหมืองทองคำ ให้กลับสู่สภาพเดิมปราศจากการปนเปื้อนของสารพิษและกลบหลุมเหมือง ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลจากหน่วยงานราชการ