xs
xsm
sm
md
lg

ชนเผ่าไทโส้ จ.นครพนมร่วมสืบสานประเพณีไทโส้บุญเดือน 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.นครพนม พร้อมด้วยนางพูนสุข โพธิ์สุ อดีตรองนายก อบจ.นครพนม ร่วมงานบุญประเพณีไทโส้ บุญเดือน 3 ประจำปี 2563
นครพนม - ชาวบ้านชนเผ่าไทโส้ 6 หมู่บ้าน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ร่วมจัดงานประเพณีไทโส้ บุญเดือน 3 มุ่งสืบสานประเพณีอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกวดอาหารพื้นบ้านจากธรรมชาติ พร้อมชมโส้ทั่งบั้ง การร่ายรำและร้องตามจังหวะของชาวไทโส้


วันนี้ (9 ก.พ. 63) ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงเรียนบ้านห้วยพระ หมู่ 9 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ตำบลท่าจำปาได้จัดงานบุญประเพณีไทโส้ บุญเดือน 3 ประจำปี 2563 จัดเป็นครั้งที่ 14 เพื่ออนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.นครพนม พร้อมด้วยนางพูนสุข โพธิ์สุ อดีตรองนายก อบจ.นครพนม เป็นประธานเปิดงาน

มีนายวรลภย์ ศรีบุญเรือง นายก อบต.ท่าจำปา, นายคมสัน โยบุดดา กำนันตำบลท่าจำปา และชาวบ้านเชื้อสายไทโส้จาก 6 หมู่บ้านร่วมกันจัดงานดังกล่าวขึ้น ภายในงานได้จัดให้มีการละเล่นประจำชนเผ่า ประกวดตูบ (กระต๊อบ) จำลองวิถีชีวิตของชนเผ่าไทโส้ ประกวดอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงไก่บ้าน หมกปลา อ่อมไก่ แกงเห็ด แกงอ่อมหวาย ตำเมี่ยง อุ๊กะปู ฯลฯ ซึ่งอาหารของชาวไทโส้พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก จากที่ตั้งของชนเผ่ามีสภาพแวดล้อมป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์

ชนเผ่าไทโส้จึงรังสรรค์อาหารอันโอชะที่ธรรมชาติมอบให้ เช่น เห็ดต่างๆ ตามฤดูกาล หวาย หน่อไม้ ผักหวานป่า ไข่มดแดง แมงแคง จักจั่น เป็นต้น พร้อมนำชาวบ้านลูกหลานจากทั้ง 6 หมู่บ้านฟ้อนโส้ทั่งบั้ง ฟ้อนรำประกอบเพลงให้แขกที่มาในงานได้รับชม ก่อนจะพาเดินชิมเมนูอาหารในซุ้มต่างๆ และเยี่ยมชมสินค้าพื้นบ้านที่ชาวบ้านได้นำมาจัดแสดงให้ชมในงานอีกด้วย




งานประเพณีไทโส้ บุญเดือน 3 คือพิธีโส้ทั่งบั้ง เป็นพิธีกรรมของชาวไทโส้ คำว่า "โส้" หมายถึงพวกกะโส้ คำว่า "ทั่ง" หมายถึงกระทุ้งหรือกระแทก คำว่า "บั้ง" หมายถึงบ้องกระบอกไม้ไผ่ โส้ทั่งบั้งก็คือพิธีกรรมใช้กระบอกไผ่ยาวประมาณ 3 ปล้อง กระทุ้งดินเป็นจังหวะแล้วร่ายรำและร้องไปตามจังหวะในพิธีกรรมของชาวไทโส้ ปกติประเพณีโส้ทั่งบั้งนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เพื่อบอกกล่าวและแสดงออกถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษที่ให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์และมีความสุข

โส้ทั่งบั้งนี้ ชาวไทโส้ทั่วไปเรียกว่า แซงสนาม หรือเหยา (เยา) ประวัติความเป็นมาชนเผ่าไทโส้ หรือกะโส้ ถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองมหาชัย ก่องแก้ว และแขวงคำม่วน สปป.ลาว อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ หลังปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อ และศรัทธาในบรรพบุรุษ มีพิธีกรรมที่สำคัญคือโส้ทั่งบั้ง ซึ่งเดิมเป็นพิธีบวงสรวงวิญญาณประจำปีของบรรพบุรุษ หรือเรียกขวัญและรักษาผู้ป่วย




ชนเผ่าไทโส้เรียกว่าพิธีซางกะมูด โดยพิธีเหยาเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแถบภาคอีสาน นิยมทำในแถบภูไทหรือผู้ไทย, ผู้ไท (จ.กาฬสินธุ์, จ.นครพนม, จ.มุกดาหาร, จ.สกลนคร) พิธีกรรมนี้เป็นการเสี่ยงทาย เมื่อเจ็บป่วยในครอบครัวเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงต้องทำเหยาเพื่อแก้ผี และจะได้ทราบว่าผีต้องการอะไร หรือผู้เจ็บป่วยทำผิดผีอะไร จะได้ทำตาม เชื่อว่าหากแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น