อุตรดิตถ์ - ผู้ว่าฯ นำคณะประสานนักประดาน้ำกองทัพเรือ เตรียมกู้ซากเรือล่มจมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ลึก 20 เมตร 7 กุมภาพันธ์นี้
วันนี้ (5 ก.พ.) นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย ผอ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนสิริกิติ์, นายอำเภอท่าปลา, นาวาตรีสุพิศ อุปรี หัวหน้าชุดครูฝึก กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธกองทัพเรือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงการจัดชุดปฏิบัติการกู้ซากเรือล่มกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ศพ และเรือจมลงสู่ก้นอ่างเก็บน้ำ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยจะใช้โอกาสที่ชุดประดาน้ำจากกองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธกองทัพเรือ เดินทางมาฝึกยุทธวิธีทางน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา ระหว่าง 4-8 กุมภาพันธ์ 2563 จัดกำลังพลทหารชุดประดาน้ำกองทัพเรือ จำนวน 35 นาย เข้าปฏิบัติการกู้ซากเรือดังกล่าวในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้
เบื้องต้นจะใช้เชือกผูกเรือที่จมลงก้นอ่างเก็บน้ำที่ความลึกประมาณ 20 เมตร มัดติดกับบอลลูนขนาดรับน้ำหนัก 500 กิโลกรัม (ในน้ำ) จำนวน 2 ลูก เพื่อให้ตัวเรือที่จมอยู่ลอยขึ้นมาเหนือระดับน้ำ แต่เนื่องจากต้องเจออุปสรรค เช่น ระดับความลึกของน้ำที่ 20 เมตร หรือ 60 ฟุต มีความขุ่นมาก การมองเห็นในระยะไม่เกิน 1 ฟุต ต้องอาศัยการคลำแทนการมองใต้น้ำ อีกทั้งสิ่งของที่อยู่บนเรือขณะที่จมลงนั้นมีมากมาย เป็นอุปสรรคต่อการยกขึ้นจึงต้องนำออกก่อน หากดำเนินการไม่เสร็จภายใน 1 วัน ก็จะให้พื้นที่สานต่อโดยใช้วิธีการแบบที่พื้นบ้านเคยใช้กันต่อไป
ทั้งนี้ ตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า หากมีเรือเกิดจมลงในแม่น้ำ เจ้าของเรือจะต้องทำการกู้ซากเรือขึ้นมาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากไม่สามารถกู้ซากเรือได้เอง ทางกรมเจ้าท่าจะทำการกู้ซากเรือให้ แต่ต้องจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการประมาณเกือบ 2 แสนบาท แต่การดำเนินการโดยนักประดาน้ำกองทัพเรือครั้งนี้ แทบจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย