xs
xsm
sm
md
lg

3 องค์กรลงนามร่วมมือผลิตบุคลากรทางการแพทย์ หลักสูตรนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการผลิตบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ

วันนี้ (28 ม.ค.) ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์นายแพทย์โศภณ นภาธร ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และการผลิตบัณฑิตระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย เพื่อร่วมมือในการผลิตบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพให้มีเพิ่มมากขึ้น ที่ห้องประชุม 101 อาคารเกษตรสนิทวงศ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือกันพัฒนา สร้างบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นมา ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะรับผู้ที่จบปริญญาตรี เข้ามาศึกษาต่อในปริญญาแพทยศาสตร์เป็นระยะเวลา 4 ปี ในหลักสูตรนานาชาติ สำหรับการที่มาร่วมมือกันในครั้งนี้เนื่องจาก รพ.สมเด็จฯ เป็นโรงพยาบาลในสภากาชาดไทย ที่ได้มีความร่วมมือกันมานานแล้ว และโรงพยาบาลสมเด็จฯ ยังอยู่ในพื้นที่ EEC ซึ่งการพัฒนาบัณฑิต การพัฒนาคนเพื่อตอบสนองพื้นที่ EEC จะเป็นจุดสำคัญที่ดีที่ทำให้การพัฒนาภาพรวมของประเทศได้ดีในอนาคต

ด้าน รองศาสตราจารย์นายแพทย์โศภณ นภาธร ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้ทำบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เป็นข้อตกลงเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งจะมีความครอบคลุมทางหลายมิติ ในเรื่องการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกัน ทั้งยังมีในด้านอื่นๆ อีก เช่น การพัฒนาด้านการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในอนาคต การพัฒนาอาจารย์ร่วมกัน การพัฒนาการบริหารงานของโรงพยาบาลสมเด็จฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับโรงพยาบาลสมเด็จฯ ผลิตบุคลากรทางการแพทย์มาแล้วถึง 10 ปี ก็จะมาพัฒนาบัณฑิตแพทย์เป็นระดับนานาชาติในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก






กำลังโหลดความคิดเห็น