นครปฐม - คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล รุกอีกขั้น ร่วมลงนาม บริษัท MFEC มืออาชีพด้าน IT ยกระดับการพัฒนาบุคลากร นักศึกษา โดยนำวิธีทำงานจริงควบคู่กับการศึกษามีเป้าหลักตามคติของสถาบันเพื่อชุมชนและสังคมโดยภาคเอกชนขานรับ
วันนี้(21 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้มีพิธีลงนามความร่วมอย่างเป็นทางการระหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือเอ็มเป็กซ์ เพื่อแสดงเจตนาในการร่วมมือทางวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกัน
โดยมีเป้าหมายคือการแลกเปลี่ยนความรู้และยกระดับคุณภาพทางการศึกษาโดยการนำฐานข้อมูลที่ทันสมัยเข้ามาให้คณะอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษา ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งในห้องแลปการศึกษารวมทำงานควบคู่ไปพร้อมกันเพื่อที่สามารถนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ทรัพยากรบุคคลที่ตรงตามเป้าหมายของกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยุคใหม่ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยต่อไป
ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดของคณะตอนนี้คือการให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในภาคการศึกษาซึ่งเมื่อนักศึกษาได้จบออกไปแล้วหากมีการได้เรียนรู้การทำงานระหว่างการศึกษาก็จะทำให้นักศึกษาปรับตัวได้ทันทีหลังจากจบการศึกษา การลงนามความร่วมมือ กับ MFEC หรือเอ็มเฟ็กซ์ คือการนำเอาข้อมูลจากภายนอกเพื่อให้เราได้ทันโลก ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เช่นระบบ IOT และ 5G นั้นจะมีผลกับการใช้ชีวิตอย่างไร และปัจจุบันในประเทศไทย มีการใช้สื่อและแอปพลิเคชั่นต่างๆเยอะมากซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆในประเทศซึ่งเราจะทำอย่างไรให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยการจับมือร่วมมือกันกับภาคอุตสาหกรรมนั้นทำให้เราได้เจาะลงไปที่การได้ประสานกับมืออาชีพซึ่งเราก็จะเข้าถึงกับมืออาชีพเฉพาะด้านเพื่อจะทำให้มีการพัฒนาไปถึงคณะอาจารย์และนักศึกษาได้โดยตรงถึงจุดประสงค์
ดร.พัฒนศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยิ่งปัจจุบันข้อมูลต่างๆ นั้นมีการปรับเปลี่ยนไปได้รวดเร็วซึ่งที่พบคือข่าวลวงเช่นการนำภาพข้อมูลไปทำการตัดต่อประยุกต์เป็นข่าวที่ไม่จริง การรับฟังข้อมูลข่าวสารจึงควรต้องในการใช้วิจารณญาณมากขึ้นมีแหล่งตรวจสอบได้ว่าเรื่องใดจริงเรื่องใดเท็จ และหน่วยงานรัฐหรือองค์กรต่างๆก็ควรจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่น่าเชื่อถือขึ้นมาเพื่อให้คนไทยได้มีที่พึ่งตรงนี้ด้วย
ด้านนายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟ็กซ์ กล่าวว่า องค์กรของเรานั้นได้ทำงานเกี่ยวกับงานด้าน IT เป็นหลักในอุตสากรรมที่เกี่ยวกับด้านนี้โดยตรงและเชี่ยวชาญทางด้านการทำแอพพลิคั่นในระบบใหญ่ๆ เช่น กลุ่มBanking และ Telecom ซึ่งจะใช้คนเป็นทรัพยากรหลักเป็นพันคน โดยวัตถุดิบหลักของเราก็เป็นคนโดยหลัก การเข้ามาลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการนำข้อมูลทางด้านวงการอุตสาหกรรมเข้าไปผสมผสานกับในภาคการศึกษา ซึ่งจะเรียกว่า Industry Linkages
เพื่อจะได้มีการปรับตัวได้ทันตามกระแสโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโลก IT เมื่อ 10 ปีก่อนนั้นแตกต่างไปจากทุกวันนี้มาก วันนี้นักศึกษาที่จบมาใหม่ในภาคอุตสาหกรรม มีการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม เพราะมีการรักความเป็นอิสระ บางคนชอบทำงานแบบเป็นโปรเจ็คแบบ 3 ปีบ้าง และเป็นแบบoutsource ที่มารับงานต่อไปบ้าง และก็ยังมีอีกกลุ่มที่ยังชอบเป็นแบบ Part Time คือไม่ทำงานประจำ ซึ่งเราเองภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัว
เพื่อที่จะเข้าใจการทำงานของคนที่มีความสามารถด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้ามาถึงมหาวิทยาลัยก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทันสมัยเช่นการที่มหาวิทยาลัยกำลังผลิตนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆในสถาบันออกมา แต่ในความเป็นจริงภาคอุตสาหกรรมนั้นได้เลิกรับพนักงานในสาขาวิชานั้นๆไปแล้วซึ่งเป็นการเสียโอกาสของทั้ง 2 ฝ่าย
นายศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2020 นี้ สิ่งที่คนไทยจะต้องรับมือและพบก็คือ เทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้วได้จริงซึ่งมีอยู่หลายตัวแต่จะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว การปรับตัวคือสิ่งที่สำคัญมากเพราะนั่นหมายถึงโอกาส ซึ่งใครที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ได้ไวก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าหรือเรียกว่าจะมีโอกาสได้เป็นเศรษฐีใหม่ได้ไม่ยาก ส่วนกลุ่มธุรกิจเก่าที่ปรับตัวไม่ทันก็จะเป็นธุรกิจที่ตายหรือถูกช่วงชิงโอกาสไป เช่นกันในวงการธุรกิจสื่อเราจะพบว่ามีสื่อเกิดใหม่ขึ้นมาทุกวันเช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆด้วย มันขึ้นกับว่าเราจะปรับตัวได้ทันหรือไม่ ส่วน เทคโนโลยีAI (Artificial Intelligence) ก็จะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและหลายภาคธุรกิจก็มีใช้กันหมดแล้วด้วย