xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แพร่สั่งโมฆะ-ทำประชาพิจารณ์ขอเปิดเหมืองกลางป่าแม่ต้าใหม่ หลังชาวบ้านฮือชูป้ายแฉ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - แม่เมืองแพร่ สั่งโมฆะทันที..หลังชาวบ้านรวมตัวชูป้ายร้องประชาพิจารณ์เหมืองแร่เขตป่าสงวนฯ แม่ต้าฝั่งซ้าย มีพิรุธ พร้อมให้เปิดเวทีฟังความเห็นใหม่อีกรอบ


วันนี้ (20 ม.ค.) นายจีรวัฒน์ ดวงประทีป พร้อมชาวบ้านอิม หมู่ 5 ต.ต้าผาม็อก อ.ลอง จ.แพร่ ราว 50 คน ได้พากันเดินถือป้ายคัดค้านเหมืองศศิน ที่ยื่นขอใบอนุญาตสัมปทานเหมืองใหม่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม่ต้าฝั่งซ้าย เข้ายื่นเรื่องร้องต่อนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่

เนื่องจากพื้นที่ขอประทานบัตรเป็นพื้นที่ต้นน้ำของห้วยแม่สวก และห้วยแม่ต้า ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยม รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ในหมู่ที่ 8 บ้านอิม ต.ต้าผาม็อก ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ส่งเจ้าหน้าที่จัดประชุมชาวบ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างไม่เป็นธรรม โดยให้ชาวบ้านลงชื่อแต่ไม่มีการลงมติว่าเอาหรือไม่เอาเหมือง จนชาวบ้านหวั่นว่าจะกลายเป็นการลงนามเห็นชอบให้เปิดสัมปทานทำเหมืองก็เป็นได้


นายจีรวัฒน์ ดวงประทีป แกนนำชาวบ้านบ้านอิม กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์ในหมู่ที่ 8 ไม่ชอบมาพากล เพราะเจ้าหน้าที่ของทางราชการพูดเข้าข้างเหมืองและพยายามแก้ตัวให้เหมืองทั้งหมด การลงนามในการประชุมก็ไม่มีการถามความเห็นว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาต จึงเชื่อว่าทางราชการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเข้าข้างนายทุน ทั้งๆ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาตลอด

โดยที่ผ่านมาเหมืองศศินเคยทำเหมืองแร่แบไรต์มาก่อน สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนมาก ดินตะกอนจากการขุดเหมืองไหลลงมาทับถมจนลำห้วยแม่สวก และลำห้วยแม่ต้า ไม่มีน้ำไหลผ่านอีกแล้ว ชาวบ้านจะเข้าไปในป่าชุมชนซึ่งกลายเป็นเขตสัมปทานเหมือง เพื่อเก็บไข่มดแดง ไปหาผัก หาเห็ด ก็ไม่ได้ เพราะผู้ดูแลเหมืองไม่อนุญาต ร้องเรียนหลายครั้งมาก จนในปี พ.ศ. 2562 ทางราชการปิดเหมือง ดำเนินคดีผู้บริหารเหมืองฐานบุกรุกแพ้วถางทำลายสภาพป่า ทำให้มลภาวะ ฝุ่นละออง ถนนพังได้รับการฟื้นฟูอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ฝุ่นลดลง แต่จู่ๆ จะเปิดสัมปทานใหม่อีก

นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผอ.จัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 จังหวัดแพร่ ได้เข้าร่วมในการชี้แจงต่อชาวบ้านว่า เหมืองศศิน ถูก กอ.รมน.ส่วนกลางสั่งปิดไปแล้ว โดยตนเป็นผู้ดำเนินการจับกุม แต่ก็ต้องถูกเหมืองฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตไม่เพียงแต่ต้องขอสัมปทานเท่านั้น แต่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ในการเข้าไปทำเหมืองเขตป่าด้วยซึ่งคงเป็นไปได้ยากเพราะคดียังคงอยู่ในชั้นศาล และผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะมาขออนุญาตอีกไม่ได้


ด้านนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่าการที่ชาวบ้านมาที่ศาลากลาง แสดงว่าต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการจัดทำประชาพิจารณ์เมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมา ที่ชาวบ้านเคลือบแคลงว่าจะไม่เป็นธรรมก็ขอให้เป็นโมฆะไปแล้วเริ่มใหม่ นำเอาประชาชนที่อยู่ในรัศมีผลกระทบสร้างเหมือง คือ หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 5 ต.ต้าผาม็อก มาจัดรับฟังความคิดเห็นใหม่โดยจะมอบให้ทางอุตสาหกรรมไปดำเนินการ แต่การจัดครั้งนี้จะมีหน่วยราชการหลายหน่วยเข้าไปร่วมเป็นสักขีพยาน และมีแบบสอบถามให้ชัดเจน

นายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ กล่าวว่า เมื่อเป็นเจตนาของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ทางอุตสาหกรรมฯจะออกหนังสือเชิญประชาชนทุกคนใน 2 หมู่บ้านมาร่วมรับฟังความคิดเห็นใหม่พร้อมกันที่วัดบ้านอิม หมู่ที่ 5 แต่การขออนุญาตทำเหมือง เมื่อมีคนขอทางอุตสาหกรรมฯ ก็ต้องให้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย จะห้ามไม่ให้ขอสัมปทานไม่ได้ ถือว่าเป็นสิทธิของผู้ประกอบการ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนที่จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งใหม่ รองผู้ว่าฯ ฝ่ายทหาร พร้อม กอ.รมน.แพร่ จะนำคณะลงพื้นที่ดูพื้นที่จริงและรับฟังเสียงชาวบ้านให้มากขึ้น ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจพากันเดินทางกลับในเวลาต่อมา
กำลังโหลดความคิดเห็น