xs
xsm
sm
md
lg

TSPCA พร้อมอาสาสมัครร่วมพัฒนาบ้านพักพิงสุนัข จ.ชลบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมชมรมบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พร้อมด้วยนักศึกษาและอาสาสมัครกว่า 40 คน จัดกิจกรรมทำความสะอาดและจัดระเบียบให้บ้านพักพิง สุนัขกว่า 500 ตัว ใน จ.ชลบุรี

วันนี้ (18 ม.ค.) สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ ร่วมกับอาจารย์ทัศนีย์ พุฒสา ที่ปรึกษาชมรมบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พร้อมด้วยนักศึกษาและอาสาสมัครกว่า 40 คน จัดกิจกรรมทำความสะอาดและจัดระเบียบให้บ้านพักพิง ของคุณจิดาภา ธนูเทพ จ.ชลบุรี

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ กล่าวว่า การดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องบ้านอุปถัมภ์ หรือสถานพักพิงสัตว์ที่สมาคมฯ ให้การสนับสนุนอาหารและเวชภัณฑ์ สมาคมฯ ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ดูแลช่วยเหลือกว่า 25 แห่ง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านอาหารและเวชภัณฑ์ ช่วยเหลือบรรเทาบ้านคุณป้า คุณน้า ได้ระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเป็นการแก้ปัญหาแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งปัญหาที่ต้นเหตุคือ ความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์นั่นเอง

เมื่อไม่ต้องการเลี้ยงสัตว์ของตนก็นำสัตว์มาทิ้ง เกิดปัญหาทำให้ผู้มีความเมตตาเก็บสัตว์เหล่านี้มาช่วยเหลือดูแล ดีกว่าให้สัตว์เหล่านั้นอดตายหรือเกิดอุบัติเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร นับเป็นความทุ่มเทและเสียสละอย่างแท้จริง เช่น บ้านคุณจิดาภา ธนูเทพ จ.ชลบุรี นั้นมีสุนัขกว่า 500 ตัว ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่สมาคมฯ ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน แต่มีหลายองค์กร มูลนิธิ และผู้ที่มีจิตเมตตาให้การช่วยเหลือสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังอาจจะไม่เพียงพอ

นอกจากอาหารและเวชภัณฑ์แล้ว การจัดสถานที่ให้สัตว์ได้มีสวัสดิภาพที่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน วันนี้สมาคมฯ จึงได้ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาจากชมรมบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กว่า 40 คน ในการร่วมกันพัฒนาจัดสถานที่พัก ปรับภูมิทัศน์ต่างๆ โดยรอบให้เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้น เล็กๆ ของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสุนัขจรจัดในสถานพักพิงได้

ซึ่งในปี 2563 สมาคมฯ มีแผนในการพัฒนาบ้านอุปถัมภ์ของสมาคมฯ ให้ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยจะค่อยๆ พัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และเพื่อไม่ให้ผู้อุปการะสัตว์จรจัดในสถานที่พักพิงเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากเกินไป จนเสียความตั้งใจที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ดูแลสัตว์เหล่านั้นด้วยความเมตตามาตลอด

โดยสมาคมฯ จะมีแผนการดำเนินการ เช่น การจัดกลุ่มในการพัฒนา เช่น กลุ่ม A ระดับดีเยี่ยม เป็นบ้านอุปถัมภ์ต้นแบบ กลุ่ม B ระดับดี ให้การช่วยเหลือเตรียมพัฒนาเป็นบ้านอุปถัมภ์ต้นแบบ กลุ่ม C ระดับพอใช้ ให้การช่วยเหลือและพัฒนาให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน และกลุ่ม D ระดับปรับลดการช่วยเหลือ เป็นต้น โดยเริ่มแบ่งเป็น 4 ระยะการดำเนินการ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานและพัฒนาหลักเกณฑ์เพื่อสอดคล้องต่อกฎหมายและหลักวิชาการที่กำหนด

ระยะที่ 2 การติดตามประเมินผล โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผลจากองค์กรภายนอกเพื่อความโปร่งใส และได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ ระยะที่ 3 การพัฒนา จัดให้มีการลงนาม MOU บ้านอุปถัมภ์ร่วมกับสมาคมฯ และให้การช่วยเหลือด้านทรัพยากร ทั้งสัตวแพทย์ในการทำหมัน ฉีดวัคซีน อาหาร เวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งวิชาการด้านการบริหารจัดการต่างๆ ระยะที่ 4 การรายงานผล โดยนำผลการดำเนินงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และใช้เป็นต้นแบบของสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐานวิชาการและปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทุกอย่างต้องเริ่มต้นเพื่อการยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาที่ต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดี และลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร และที่สำคัญเพื่อสร้างสังคม ให้อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ตามแนวทางสันติวิธี










กำลังโหลดความคิดเห็น