xs
xsm
sm
md
lg

นครพนมเร่งกักน้ำจากหนองหารเข้าอ่างเก็บไว้ใช้จนพ้นฤดูแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครพนม - น้ำโขงลดระดับลงเรื่อยๆ เหลือไม่ถึง 1 เมตร แต่โชคดีทะเลสาบหนองหาร ระบายน้ำออกกว่า 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันป้อนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ ชลประทานนครพนมเร่งกักน้ำเข้าอ่างต่างเพื่อใช้ทำเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ มั่นใจมีใช้เพียงพอจนพ้นแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นที่จังหวัดนครพนมขณะนี้ระดับน้ำลดต่ำลงเรื่อยๆ ลดลงรวดเร็วกว่าทุกปี เป็นผลกระทบจากภัยแล้ง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 1 เมตร กระทบต่อลำน้ำสาขาสายหลัก ทั้งลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน และ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ที่รับน้ำจากทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม

ล่าสุดทางชลประทานจังหวัดนครพนมได้เร่งวางแผนรับมือในการเก็บกักน้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั้ง 12 อำเภอกว่า 20 แห่ง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเก็บกักมากที่สุด เตรียมรับมือปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่ยังเหลืออีกหลายเดือน โดยเฉพาะลำน้ำก่ำ ได้มีการเก็บกักน้ำที่ไหลมาจากหนองหาร 100 เปอร์เซ็นต์ รวมระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร

โดยปีนี้มีการระบายน้ำจากทะเลสาบหนองหาร เพื่อทำโครงการพัฒนา ซึ่งจะมีการระบายน้ำมากถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน จึงได้มีการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมงดการระบายน้ำบริเวณประตูระบายน้ำช่วงสุดท้ายประตูธรณิศนฤมิตที่กักน้ำจากลำน้ำก่ำ ก่อนไหลระบายลงน้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม เพื่อให้มีปริมาณน้ำมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของความจุ คาดว่าจะเพียงพอถึงฤดูฝน


นายเกียรติศักดิ์ ผัดวัง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ เปิดเผยว่า ปีนี้ถ้าเทียบในช่วงเดือนเดียวกัน ปริมาณน้ำโขงถือว่าต่ำกว่าทุกปี ทำให้ลำน้ำสาขาสายหลักมีปริมาณน้ำต่ำ แต่ในส่วนของลำน้ำก่ำที่รองรับน้ำจากหนองหาร โชคดี ที่ทางทะเลสาบหนองหาร มีการระบายน้ำออกเพื่อทำโครงการพัฒนา ตั้งเป้าที่ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ได้ทยอยระบายน้ำลงมาสู่ลำน้ำก่ำ


โดยทางโครงการชลประทานน้ำก่ำได้วางแผนรับมือ เร่งกักน้ำที่หนองหารมีการระบายลงมาสู่น้ำโขงให้มากที่สุด คาดว่าจะเพียงพอในการระบายสู่ระบบชลประทาน ช่วยพื้นที่นาปรังไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้ประสานโครงการอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง เร่งเก็บน้ำให้มากที่สุด รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ นำไปติดตั้งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในจุดที่ขาดน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร


กำลังโหลดความคิดเห็น