สุโขทัย - สถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.สุโขทัยเริ่มขยายวงกว้าง ประชาชนหลายหมู่บ้านต่างเร่งสร้างฝายกักเก็บกันกลางแม่น้ำยมหลังปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง จังหวัดประกาศ 4 อำเภอเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
วันนี้ (13 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.สุโขทัยเริ่มขยายวงกว้าง ประชาชนหลายหมู่บ้านต่างเร่งสร้างฝายกักเก็บกันกลางแม่น้ำยมหลังปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่บริเวณสะพานป่างิ้ว อ.ศรีสัชนาลัย ลงมาถึงท้ายน้ำบริเวณสะพานพระร่วง-สะพานพระแม่ย่า ใจกลางเมืองสุโขทัย และที่สะพานบ้านบางปะ ต.กง อ.กงไกรลาศ แม่น้ำยมกลายสภาพเกือบแห้งขอด หลายจุดมองเห็นพื้นทรายก้นแม่น้ำจนสามารถเดินข้ามได้
นายไพโรจน์ ทองเป้า อายุ 58 ปี เกษตรกร ต.บ้านหลุม อ.เมืองสุโขทัย บอกว่า ปกติแม่น้ำยมจะลดลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทว่าปีนี้น้ำแห้งไวมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้นาข้าวที่ปลูกไว้จำนวน 18 ไร่เสียหายทั้งหมด โดยลงทุนไปไร่ละ 1,000 กว่าบาท ยังไม่ได้ใส่น้ำเลย นับว่าแล้งหนักสุดในรอบ 17 ปีก็ว่าได้
ด้านนายเนตร สมบัติ เกษตรจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า สุโขทัยเริ่มประสบภัยแล้งมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2562 และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ ศรีสัชนาลัย ศรีสำโรง คีรีมาศ และเมืองสุโขทัย ซึ่งมีนาข้าวยืนต้นตายทั้งหมดกว่า 27,261 ไร่ ทางจังหวัดจึงได้เตรียมเสนอของบประมาณกว่า 30 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,113 บาท
ส่วนบริเวณสระน้ำขนาด 10 ไร่เศษ ความลึก 10 เมตร ในเขตพื้นที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยก็ได้นำรถแบ็กโฮมาช่วยขุดลอกสระเพื่อจะกักเก็บน้ำให้ราษฎรหมู่ 7 ต.บ้านกล้วย อ.เมืองสุโขทัย ได้อุปโภคและใช้ทำการเกษตรบางส่วนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้หนักกว่าทุกปี และคาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 126,782 ไร่ จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะนาข้าวและไม้ผล เช่น มะม่วง กล้วยตานี และส้มเขียวหวาน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังแล้วหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนคนที่มีพื้นที่ของตนเองก็ควรขุดสระ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในอนาคตต่อไป