ศูนย์ข่าวศรีราชา ชาวเมืองพัทยากว่าครึ่ง เห็นด้วยแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หลังกรมโยธาฯ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วม ภายใต้งบดำเนินการกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
จากกรณีที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดเกี่ยวกับระบบป้องกันน้ำท่วม ครั้งที่ 3 ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งมี นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการประชุม และมี นายศักดิ์สิทธิ์ ศิริรัตตัญญู โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี ในฐานะเจ้าของโครงการนำตัวแทนบริษัทผู้รับจ้างศึกษาออกแบบเข้าร่วมชี้แจง และมีตัวแทนจากเมืองพัทยา ภาคเอกชน รวมทั้งตัวแทนชุมชนเข้าร่วม
หลังกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2561-2563 เพื่อจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา จ.ชลบุรี และได้มีการลงนามว่าจ้าง บริษัท วอเตอร์ดีเวลลัฟเม้นท์คอนซัลแท็นส์กรุ๊ป จำกัด ให้เป็นบริษัทที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2561
โดยให้ดำเนินงานศึกษาสำรวจและออกแบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำให้สอดคล้องต่อการใช้ที่ดินของพื้นที่ชุมชน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมของพื้นที่ชุมชนที่จำเป็นเร่งด่วนของเมืองพัทยา ให้สอดคล้องและสอดประสานกับแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระดับลุ่มน้ำ
และที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยความร่วมมือของจังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2562 และ 19 ก.ค.2562 ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา โดยนำเสนอขอบเขตของการศึกษา ขั้นตอนการดำเนินโครงการ แนวคิดและแนวทาง ผลการจัดทำแผนแม่บท และผลการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น
ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 พบว่าเป็นการนำเสนอร่างผลการออกแบบรายละเอียดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมี รศ.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล เข้าร่วมชี้แจง ได้ข้อสรุปโดยรวมว่า เมืองพัทยาเป็นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งรับน้ำมาจากสันปันน้ำในพื้นที่สูงทางฝั่งตะวันออก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่เมืองพัทยาและหนองปรือ ขนาด 43.78 ตร.กม. พื้นที่คลองนาเกลือ-มาบประชัน-กระทิงลาย ในพื้นที่ 118.67 ตร.กม. และห้วยใหญ่ ขนาด 64.06 ตร.กม.
โดยแต่ละพื้นที่จะมีการออกแบบตามความเหมาะสมแตกต่างกันไป และทยอยดำเนินการจนกว่าจะสมบูรณ์ เช่น การปรับปรุงเสริมท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่แยกน้ำดี-น้ำเสีย การทำระบบระบายโดยใช้หลัก Gravity เป็นสำคัญ รวมทั้งการขยายสถานีสูบ การพัฒนาและปรับปรุงคลองธรรมชาติ ซึ่งนับรวมการนำน้ำส่งกลับไปกักเก็บในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ การต่อท่อระบายน้ำฝนลงทะเลด้วยระบบท่อในระยะ 1 กิโลเมตร
และจัดทำโครงข่ายท่อระบายน้ำทั่วเมืองพัทยาในระบบ Under Ground River โดยเพิ่มโครงข่ายขนาดเส้นท่อระบบระบายให้ใหญ่ขึ้น จากเดิมที่รองรับน้ำฝนได้เพียง 40-60 มม./ชม. ให้เป็นขนาดที่สามารถรองรับน้ำฝนได้ 128 มม./ปี ซึ่งจะทำให้เมืองพัทยารองรับน้ำฝนได้นานกว่า 10 ปีจากนี้ เพียงแต่โครงการแม่บทดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาการจัดทำนานถึง 7 ปี
จึงต้องมีการดำเนินการแยกออกเป็นส่วนต่างๆ ในส่วนที่จำเป็นก่อนทยอยไปจนกว่าจะสำเร็จ
จากสำรวจการออกแบบที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนที่เห็นด้วยกว่า 55% ซึ่งจะได้นำผลสรุปของการประชุมครั้งนี้ไปแก้ไขอีกครั้ง ก่อนนำส่งกรมโยธาธิการ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาต่อไป