พะเยา - พระครูปลัดฯ ฝ่ากระแสฝรั่งแย่งซื้อ-ความเชื่อชาวบ้าน รวบรวมผ้ายันต์ล้านนาเก่าแก่ทั้งยันต์เมตตามหานิยม-คงกระพัน-ยันต์ฝ่าต๊ะ บางผืนเป็นรูพรุน-ถูกของมีคมฟันขาด เปิด “พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร” เก็บรักษาให้คนรุ่นหลังศึกษา
ด้วยความเชื่อที่ว่า..ผ้ายันต์หรือเครื่องรางที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษปู่ย่าตายายไม่ควรเก็บไว้ เพราะอาจจะนำความเดือดร้อนมาให้ เนื่องจากบารมียังไม่ถึงที่จะครอบครอง จึงมีการเผาทิ้งไปพร้อมกับร่างผู้เสียชีวิต รวมทั้งมีชาวต่างชาติซึ่งมองว่าเป็นศิลปะชิ้นเดียวในโลก ควานหาซื้อผ้ายันต์ทั่วภาคเหนือในราคาที่สูง ทำให้ผ้ายันต์ล้านนาเริ่มสูญหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ
พระครูปลัด สุวัฒนจริยคุณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม (วัดสบเกี๋ยง) อ.ปง จ.พะเยา ประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ เห็นว่าผ้ายันต์เป็นมรดกของชาติและชาวล้านนา จึงได้พยายามรวบรวมผ้ายันต์จากแหล่งต่างๆ ทั้งในจังหวัดพะเยาและภาคเหนือทั้งหมดมาเก็บรักษาไว้
พร้อมปรับปรุงกุฏิไม้ทรงไทยวัดธรรมิการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดสบเกี๋ยง บ้านสบเกี๋ยง ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร” ขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมผ้ายันต์ชนิดต่างๆของล้านนาภาคเหนือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมบรรพบุรุษ ตลอดจนประวัติความเป็นของตัวเอง ที่กำลังจะเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย
ผ้ายันต์ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ ขณะนี้มีกว่า 200 ผืน อายุต่ำสุดประมาณ 50-70 ปี และมากสุดประมาณ 100 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบผืนผ้าสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เล็ก เสื้อ กางเกง และเป็นผ้ายันต์หลากหลายชนิด เช่น ยันต์เมตตามหานิยม ยันต์มหาอำนาจ ยันต์ค้าขาย ยันต์มหาเสน่ห์ ยันต์โชคชะตา ยันต์อยู่ยงคงกระพัน ยันต์ป้องกันภัย ยันต์สารพัดนึก ยันต์ฝ่าต๊ะ (รูปมือหรือเท้าที่เอาทาบลงบนผ้า)
สภาพผ้ายันต์ที่พบส่วนใหญ่ทำจากผ้าดิบ ลวดลายอักษรเมืองเขียนด้วยหมึกสักและสีของพืชตามธรรมชาติ เช่นสีดำ แดง และเขียว ผ้ายันต์บางผืนอยู่ในสภาพขาดวิ่นด้วยความเก่า และถูกของมีคม คาดว่าผู้สวมใส่อาจจะถูกฟันด้วยดาบหรือมีด เพราะยังมีรอยเลือดติดอยู่ บางส่วนเป็นรูพรุนคล้ายถูกยิงด้วยกระสุนปืนคาบศิลา หรือปืนแก๊ป ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ลูกกำผาย”
นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร ยังเก็บรวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่ ยันต์ตะกรุดต่างๆ พระพุทธรูปงาช้าง คัมภีร์ตำราพับสาล้านนาต่างๆ ที่จารึกตัวอักษรล้านนาไว้ด้วย