ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่กลุ่มมหาวิทยาลัยภาคตะวันออก ที่ ม.บูรพา จ.ชลบุรี หวังสร้างแรงขับเคลื่อนกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและบริการหนุนโครงการอีอีซี และไทยแลนด์ 4.0
วันนี้ (22 พ.ย.) มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยกลุ่มภาคตะวันออกของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ณ ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรม มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และคณะ พร้อมทั้งตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออก รวม 7 แห่งเข้าร่วม
ภายในงานยังมีการนำเสนอข้อมูลภาพรวมของเหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาการอุดมศึกษาของประเทศ เรื่อง “ทิศทางอุดมศึกษาไทยในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณอุดม คชินทร ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
ขณะที่ รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ผู้รักษาการแทนอธิการบดีและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งผู้แทนมหาวิทยาลัยในกลุ่มภาคตะวันออก ได้ร่วมกันนำเสนอข้อมูลแผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี แนวทางการดำเนินงานตามพันธกิจ ตลอดจนแนวทางการจัดการหลักสูตรสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ จะดูแลในเรื่องปัญหาทางด้านกฎหมาย การบริหาร และปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ต้องการให้คณะกรรมาธิการชุดนี้สนับสนุน เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมและงานบริการ ตลอดจนชุมชนบรรลุเป้าหมายทั้งเรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 แผนการพัฒนาอีอีซี และแผนการพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปี
“ซึ่งการเดินทางมาร่วมสัมมนากับตัวแทนกลุ่มมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออก ในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นภาพความสำคัญของ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี และจังหวัดใกล้เคียงที่จะมีความต้องการในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยผู้ประกอบการ เนื่องจากเป้าหมายสำคัญในการใช้หุ่นยนต์ การบิน โลจิสติกส์ การแพทย์และการท่องเที่ยว ล้วนแต่ต้องการใช้นวัตกรรมและระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย”
ดังนั้น หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบด้านวิชาการและการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาจะต้องเข้ามาช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ก็จะให้การช่วยเหลือในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และเอสเอ็มอี รวมทั้งผู้ประกอบการชุมชนที่ผลิตสินค้าโอทอป ในเรื่องการให้ความรู้ต่างๆ
พล.อ.อ.ประจิน ยังเผยอีกว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการฯ ทำให้สามารถจับประเด็นความสามารถในการเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ ชุมชนและภาคประชาชน รวมทั้งบุตรหลานที่จะเข้าสู่การศึกษาและการทำงานในพื้นที่อีอีซี สามารถนำความรู้ที่ได้มาประกอบอาชีพ เพื่อช่วยกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป