xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการมหาลัยบุกทวงคืนเงินเดือนร้อยละ8 เผยปรับขึ้นให้กลุ่มครูล้ำหน้าหลายปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี- ชขอท.จับมือ ทปสท.บุกยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯจี้เร่งเยียวยาเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสม ข้าราชการครูปรับเงินเดือนหลายครั้ง อัตราเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยถึง 8 % จึงต้องการทวงคืนหลังรอมา9ปี

วันนี้ (9 พ.ย.) ที่ โรงแรมประจักษ์ตรา อุดรธานี ผศ.ดร.ศักราช ฟ้าขาว ประธานชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ชขอท.) อาจารย์จิตรเจริญ สอนขวัญ กรรมการ ก.พ.อ., ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) และดร.กาญจนา ไตรรัตน์ กรรมการและเลขา (ทปสท.) พร้อมสมาชิกจำนวนกว่า 10 คนได้ยื่นหนังสือยื่นถึง รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการครูและข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

ดร.ศักราช ฟ้าขาว ประธานชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ชขอท.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินเดือนครู เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในปี พ.ศ. 2554 เกิดผลทำให้ฐานเงินเดือนข้าราชการครูเพิ่มขึ้นจากเดิมและมากกว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาไปร้อยละ 8 ต่อมารัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทั่วประเทศอีกร้อยละ 5 จึงทำให้ข้าราชการครูได้ปรับเพิ่มถึงร้อยละ 13

โดยในปี พ.ศ.2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มีผลทำให้เกิดพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม “มาตรา 8/1 ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น เพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม ก.พ.อ. อาจกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการเยียวยาโดยให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีไป




ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จึงขอเสนอแนะแนวทาง คือ ให้เร่งรัดนำเรื่องการเยียวยาเข้าสู่วาระการพิจารณาเมื่อมีการประชุมครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการ ก.พ.อ. และให้พิจารณาเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนให้เทียบเคียงกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้มีผลการเยียวยาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 จนถึงปัจจุบัน

อาจารย์จิตรเจริญ สอนขวัญ กรรมการ ก.พ.อ.กล่าวว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำของเงินเดือน 8% เกิดตั้งแต่ปี 2554 โดยเราพบว่าเงินเดือนของข้าราชการครูกับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามีความแตกต่างกันอยู่ร้อยละ 8 หมายความว่าเงินเดือนของครู ที่สังกัด สพฐ.ขึ้นมา 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งจุดนี้เป็นความเหลื่อมล้ำ

โดยทางกลุ่มของเราได้ต่อสู้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเรื่องเข้าถึงคณะรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเลยทำให้เราไม่ได้รับการเยียวยาในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีชมรมเกิดขึ้นมา ซึ่งมีความเข้มแข็งมาก จึงเป็นที่มาทำให้เรามาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวมาตลอด

ด้านดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า แนวทางต่อไป จากนี้เราจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นเรื่องของฐานเงินเดือน รวมถึงจำนวนตัวเลขเงินเดือนนำเสนอถึงปลัดกระทรวงโดยเร็ว เพื่อที่จะได้นำเข้าคณะกรรมการ ก.พ.อ.ให้ทันเมื่อคณะกรรมการ ก.พ.อ. มีมติเป็นที่สรุปแล้วก็จะได้ส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีฯ เพื่อขอการอนุมัติงบประมาณต่อไป


รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ประเด็นความความเดือดเรื่องการขึ้นเงินเดือน 8% สำหรับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยฯ เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมา 8-9 ปี เรื่องแนวทางการแก้ปัญหานี้เป็นอำนาจของ ก.พ.อ. แต่ตอนนี้ติดที่คณะกรรมการยังอยู่ในกระบวนการแต่งตั้ง ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีการแต่งตั้งเสร็จประมาณเดือน มกราคม 2563

เพราะตัวบุคคลเรามีเกือบครบแล้วขาดผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น เมื่อได้คณะกรรมการฯ กรรมการก็จะนำปัญหาเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณา


ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวรัฐมนตรีทราบเป็นการเบื้องต้นแล้วว่าเรื่องนี้ปัญหานี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เรามีการพูดคุยกับสมาชิกว่ามีช่องทางการช่วยเหลืออย่างไรแล้ว พร้อมกันนี้ได้คุยกับสำนักงบประมาณว่ามีงบประมาณงบประมาณในการเยียวยามากน้อยแค่ไหนหรือจะมีขั้นตอนในการทำงานอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น