xs
xsm
sm
md
lg

5 จังหวัดริมโขงชูแผนท่องเที่ยวด้วยคนในชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง
นครพนม - 5 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงติวเข้มจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงบูรณาการ มุ่งหวังให้คนในชุมชนจัดการทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดรายได้ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วม รักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทรัพยากรท้องถิ่น

วันนี้ (7 ส.ค. 61) ที่ห้องสัมมนาโรงแรมไอโฮเทล อ.เมือง จ.นครพนม ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง เป็นประธานจัดอบรมตามหลักสูตร การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ (Certificate in CBT Integrated) เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดกระบวนการพัฒนา นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยว มีผู้เข้าร่วมจาก 5 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม และมุกดาหาร กว่า 100 คน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม (ทกจ.นครพนม) ร่วมกับสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย อพท.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 61 คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบกระบวนการคัดเลือกชุมชนต้นแบบในเขตทั้ง 5 จังหวัดแล้ว ประกอบด้วย ชุมชนชัยพฤกษ์ อ.เมือง จ.เลย, ชุมชนบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย, ชุมชนหอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ, ชุมชนบ้านโพน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และชุมชนบ้านแข้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร หลังจากนั้น ทกจ.นครพนมได้ลงพื้นที่จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนสำหรับชุมชนบ้านโพนเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บ้านโพน ต.โนนตาล หนึ่งในห้าชุมชนที่ถูกคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัดนครพนม เป็นชนเผ่าไทยญ้อ (ย้อ) มีความเชื่อ ประเพณี ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอถึงขั้นตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ฝ่ายชายก็จะให้พ่อแม่ไปสู่ขอสาวคนรัก เรียกว่า “ไปเจาะ” คือการส่งผู้ใหญ่ไปทาบทาม

“โอมสาว” คือการทำพิธีสู่ขอ “แฮกเสื่อแฮกหมอน” คือการจัดเตรียมเครื่องนอน ประกอบด้วย ฟูก หมอน ผ้าห่ม เสื่อ และมุ้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง ในการนี้ต้องเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชาวบ้านยอมรับว่าเป็น “ผัวค้ำเมียคูณ” มาทำพิธีตัดเย็บให้ชาวไทยย้อ จึงเรียกว่าแฮกเสื่อแฮกหมอน “เล่าดอง” คือการบอกเล่าวันแต่งงาน “มื้อกินดอง” คือพิธีวันแต่งงาน

อีกทั้งชาวไทยย้อนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตา โดยชาวบ้านจะสร้างตูบปู่ตา (กระท่อม) หรือโฮงผีปู่ตา (หมายถึงโรงเรือนเป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง) โดยมีความเชื่อว่าผีปู่ตาคือผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว แต่ยังมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับที่ตั้งของผีปู่ตาจะอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ สำหรับงานบุญของชาวไทยย้อส่วนมากก็เหมือนกับชาวอีสานทั่วไปที่นับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตนตามฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ และก่อนหน้านี้ชุมชนบ้านโพนได้รับการคัดสรรเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเผยว่า เป้าหมายการอบรมครั้งนี้จะช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องนำความรู้ไปพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในชุมชน เพราะทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นทรัพยากรท้องถิ่นของตน เพื่อให้เกิดรายได้เสริม อนุรักษ์ภูมิปัญญา ช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน และการสืบทอดทรัพยากรท้องถิ่น

ทุกชุมชนล้วนมีของดีที่สามารถนำเสนอให้ผู้มาเยือนได้ไปสัมผัส แต่หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการบริหารจัดการของคนในชุมชนนั้นๆ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานพี่เลี้ยงทั้งหลายจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ เดินหน้าได้อย่างมีคุณภาพ และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น