นครปฐม - อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรม เรื่องการพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยผ่าตัดนำลูกตาออก และการใส่ตาปลอมทดแทน ตามโครงการตาปลอม 999 ดวงตาถวายเป็นพระราชกุศล องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 500 ที่นั่ง ชั้น 9 อาคารบริการ 9 ชั้น โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรม เรื่องการพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยผ่าตัดนำลูกตาออก และการใส่ตาปลอมทดแทน โครงการตาปลอม 999 ดวงตา ถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โดยมี แพทย์หญิงดวงดาว ทัศณรงค์ รองผู้อำนวยการการสถาบันจักษุวิทยา เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยจักษุแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านจักษุ ทั้งภาครัฐและเอกชน และบุคคลทั่วไป จำนวน 300 คน เข้าร่วมโครงการ
ซึ่งการอบรมเรื่องการพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยผ่าตัดนำลูกตาออกและการใส่ตาปลอมทดแทน เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการตาปลอม 999 ดวงตาถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงเดือนมกราคม 2564
โดยมุ่งหวังช่วยเหลือผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตา หรือดวงตาผิดรูป ที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงบริการการใส่ตาปลอมเฉพาะบุคคล ที่นอกเหนือจากตาปลอมสำเร็จรูปที่มีข้อจำกัด เช่น ขนาดชิ้นตาปลอม ขนาดและสีของตาดำแตกต่างจากตาปกติของผู้ป่วย เป็นต้น เพราะการสูญเสียดวงตาอย่างกะทันหันโดยไม่ทันเตรียมใจ
นอกจากจะทำให้มองไม่เห็นแล้ว ยังส่งผลกระทบตามมา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านจิตใจของผู้ป่วย ที่รู้สึกสูญเสียอัตมโนทัศน์ และภาพลักษณ์ ในขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัว เกิดภาวะเครียด กลัว วิตกกังวล และกลัวการสูญเสียรายได้ หากผู้ป่วยเป็นเสาหลักของครอบครัว จะเห็นได้ว่า เมื่อผู้ป่วยสูญเสียดวงตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางสังคมต่างๆ อย่างมากมาย
ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์ตาปลอม โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการและได้ใส่ตาปลอมเฉพาะบุคคล จากโครงการตาปลอม 999 ดวงตาถวายเป็นพระราชกุศล จำนวน 314 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยลงชื่อรับเปลี่ยนตาเฉพาะบุคคลอีกจำนวน 326 ราย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการมุ่งหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจักษุ ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียดวงตาได้อย่างมีคุณภาพ สามารถเสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วย และญาติให้เผชิญต่อภาวะการสูญเสียดวงตา และสามารถกลับไปดูแลตนเอง และญาติที่บ้านได้
นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย จักษุแพทย์ และจิตแพทย์ให้แก่ประชาชนให้ได้รับความรู้เพื่อสามารถดูแลตนเอง หรือบุคคลใกล้ชิดได้