ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คาราวานธารน้ำใจ โคราช ปล่อยขบวนรถบรรทุกสิ่งของอุปโภคบริโภค 18 คัน เงินสด 6 แสน ส่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเขื่อนแตกที่สปป.ลาว ผู้ว่าฯ สั่ง ปภ.จับตาเฝ้าระวังแจ้งเตือน ปชช.จุดเสี่ยง เผย เขื่อนยังรับน้ำได้อีกมาก
วันนี้ (30 ก.ค.) ที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ วงจร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนภาคประชาชนร่วมกันปล่อยขบวนรถธารน้ำใจชาวโคราช บรรทุกสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เขื่อนแตก ที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จำนวน 18 คัน
สำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาคครั้งนี้มีทั้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม น้ำดื่ม นมกล่อง ยารักษาโรค และอื่นๆ จำนวนมาก มีรถบรรทุกจากหน่วยทหาร จาก ปตอ.2 พัน 2 มทบ.21 กองทัพภาคที่ 2 และ บริษัท มีโชค กรุ๊ป ลำเลียงสิ่งของทั้งหมดไปส่งไว้ที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อจัดส่งต่อไปยังพี่น้องชาว สปป.ลาว ที่ประสบภัย
นายวิเชียร กล่าวว่า น้ำใจชาวโคราชล้นหลาม หลังเปิดรับบริจาคเพียงไม่กี่วัน ได้สิ่งของและเงินสดมาเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน สปป.ลาว โดยสิ่งของทั้งหมดจะนำไปมอบไว้ที่ จ.อุบลราชธานี จากนั้น เจ้าหน้าที่ของ สปป.ลาว จะมาลำเลียงไปยังจุดที่มีปัญหา ส่วนเงินที่รับบริจาคมารวมกว่า 660,000 บาท นั้น ทางจังหวัดจะนำไปมอบผ่านสถานกงสุลลาวประจำประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนชาว สปป.ลาว ต่อไป
สำหรับการเปิดรับบริจาคนั้น ประชาชนสามารถนำสิ่งของและเงินบริจาคได้ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมา และ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้อย่างต่อเนื่องโดยจะเปิดรับจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า การเตรียมพร้อมรับมือฝนตกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา นั้น แม้ว่า จ.นครราชสีมา จะไม่ใช่พื้นที่เกิดฝนตกหนักตามการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความประมาท ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัดนครราชสีมา เฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนแหล่งน้ำในเขตชุมชนให้พร่องน้ำออกเพื่อเตรียมรับก้อนน้ำใหม่เข้ามา โดยขณะนี้บุ่งตาหลั่ว ได้ดำเนินการแล้ว เพราะปัญหาน้ำท่วมขังในเขตชุมชนตัวเมืองโคราช ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 5 แห่งของจังหวัดนครราชสีมายังรับน้ำได้อีกมาก มีเพียงเขื่อนลำตะคองที่ปริมาณน้ำมากกว่าเขื่อนอื่นๆ คือ มีปริมาณน้ำร้อยละ 60 ของความจุ ส่วนเขื่อนอื่นยังต่ำกว่าร้อยละ 50 จึงไม่นาเป็นห่วงนัก นายวิเชียร กล่าวในตอนท้าย