ศรีสะเกษ - “นพ.ธีระเกียรติ” รมว.ศึกษาธิการ นั่งกินข้าวถาดหลุมกับเด็กนักเรียน ยันค่าอาหารกลางวันหัวละ 20 บาทเพียงพอ ชม ร.ร.อนุบาลกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นตัวอย่างที่ดี มีชุมชนเข้ามาช่วยและเงินถึงเด็กเต็มเม็ดเต็มหน่วย
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่โรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. และคณะ ได้มาติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. 61 ที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ
โดยได้ลงมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์ ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติได้นำถาดหลุมมาตักอาหารให้เด็กนักเรียน และได้นั่งรับประทานอาหารที่ใส่ในถาดหลุมร่วมกับเด็กนักเรียนอย่างเอร็ดอร่อย รวมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการได้นั่งรับประทานอาหารใส่ในถาดหลุมด้วย ซึ่งเป็นอาหารเดียวกันกับอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วได้ไปเยี่ยมชมนิทรรศการผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย ดร.ชอุ่ม กรไกร รองศึกษาธิการภาค 10 นายฤทธา นันทพันธ์ ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 นายสุรชาติ ทอนศรี ผอ.ร.ร.อนุบาลกันทรารมย์ คณะครู และนักเรียน ให้การต้อนรับ
นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ การที่ครูไม่ทำการสอน ครูต้องไปทำงานธุรการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ในกี่ยุคกี่รัฐบาลพยายามจะหาวิธี เช่น จ้างนักการภารโรง จ้างครูธุรการ หาคนมาช่วย หรือเขตพื้นที่การศึกษามาช่วย วันนี้ตนว่าเราได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ เราต้องมารู้หน้าที่ของครูคืออะไร หน้าที่ของครูคือ สอน เตรียมการสอน ส่วนธุรการเป็นหน้าที่รอง ถ้ามีเวลาเข้ามาช่วย ถ้าเราคำนึงอย่างนี้คนที่ทำหน้าที่ธุรการจริงๆ คือเขตพื้นที่การศึกษา และในวันนี้ที่ฟังๆ ดูเขตพื้นที่การศึกษายอมรับว่าต่อไปนี้งานธุรการ งานจัดซื้อจัดจ้าง เขตต้องเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งเลขาธิการ กพฐ.บอกว่าได้กระจายอำนาจไปที่เขตแล้ว
แต่ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเขตที่จะมาช่วยโรงเรียน แต่เป็นหน้าที่จึงขอให้เข้าใจตรงนี้ ซึ่งรู้แล้วว่าเป็นหน้าที่ สมมติว่าเขตคนไม่พอต้องไปแก้ปัญหาภายใน ทีนี้ข้างบนจะต้องทำงานอย่างหนึ่งคือ ไม่เอาภาระไปให้เขตโดยไม่จำเป็น ส่งภาระไปโรงเรียน นั่นคือระบบประเมินโครงการต่างๆ ซึ่งมีนับร้อย ทำให้ครูไม่เข้าโรงเรียน จะต้องทบทวนใหม่ ระบบประเมิน ระบบประกันคุณภาพได้มีกฎหมายใหม่แล้ว ซึ่งครูจะได้ไม่มีภาระ แต่ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน
ระบบใหม่ง่ายๆ คือ เริ่มจากประเมินตัวเองตามมาตรฐานที่ไม่ใช่ตัวชี้วัด จะต้องดูว่าเราได้มาตรฐานระดับไหน แล้วเรารู้ได้อย่างไร นั่นคือแสดงหลักฐาน โดยไม่ใช่หลักฐานที่มาจากข้างบน เราเองต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ระดับไหน เสร็จแล้วสุดท้ายคือ จากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่ง จะต้องเสนอแผนพัฒนา ทุกอย่างจะสอดคล้องง่ายขึ้น ครูจะได้ไปทำงานของครูให้เต็มที่
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า โครงการอาหารกลางวัน จากการที่นักวิชาการได้มีการวิจัยในเรื่องนี้แล้วพบว่าค่าอาหารกลางวันที่จัดสรรให้กับเด็กนักเรียนหัวละ 20 บาทต่อคนต่อวันนั้นเพียงพอต่อการบริหารจัดการ โดยใช้วิธีการบริหารจัดการภาพรวมทั้งโรงเรียน แต่หากจะนำเอาไปจัดซื้อจัดจ้างจะไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาจากการที่ได้ดูมาหลายโรงเรียนแล้ว พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่จัดอาหารกลางวันได้ดี มีปลาเน่าไม่กี่ตัว ไม่ถึง 0.1% ทำที่ไห้กระทรวงเสียหาย ซึ่งพวกนั้นตนได้จัดการเด็ดขาดอันนี้เป็นตัวอย่าง วันนี้ไม่ได้โชว์ ตนแอบถามมาแล้ว Thai School Lunch ส่วนใหญ่รู้จัก แต่หลายที่บอกว่าทำไม่เป็นหรือทำแล้วเด็กไม่ชอบ ก็ปรับได้แต่จัดแบบนี้ดี คือเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงเด็ก ซึ่งโรงเรียนนี้จะเป็นตัวอย่าง และมีชุมชนเข้ามาช่วย
นายกรัฐมนตรีได้ฝากถึงชุมชน ไม่ว่าจะปลูกผักในโรงเรียน หรือชุมชน มาช่วยกัน เท่าที่ดูต้องให้กำลังใจเขา ตนมาในวันนี้ไม่ได้มาจับผิด แต่มาให้กำลังใจ และได้มาดูอีกหลายๆ เรื่อง เช่น คูปองครู อินเทอร์เน็ต ที่แน่ๆ คือรายงานตลอด ขณะนี้อินเทอร์เน็ตโรงเรียนที่มีไม่ถึง และเข้าไม่ถึง 20 โรงเรียน จาก 30,000 โรงเรียน เหมือนเรื่อง Thai School Lunch เมื่อก่อนยังไม่ถึง ตอนนี้เข้าถึงหมดแล้ว