xs
xsm
sm
md
lg

เผยพิษพายุโซนร้อน เซินติญ ถล่มสังขละบุรี ทำ ปชช.เดือดร้อน 1,130 ครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - กาญจนบุรี - เผยพิษพายุโซนร้อน เซินติญ ถล่มสังขละบุรี ทำ ปชช.เดือดร้อน 1,130 ครัวเรือน สถานที่ราชการ 7 แห่ง ส่วนพื้นที่การเกษตรคาดเสียหาย 300 ไร่ ด้านเขื่อนวชิราลงกรณ แนะ ปชช.ท้ายน้ำขึ้นอยู่ที่สูง เตรียมระบายเพิ่มขึ้น 29 ก.ค.นี้

วันนี้ (23 ก.ค.) นายอารุณ ปินตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น เซิน ติญ ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 19 ถึง 20 กรกฎาคม 61 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จำนวน 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน

ได้แก่ตำบลหนองลู หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 7 หมู่ 8 และหมู่ 10 ตำบลไล่โว่ หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 5 และหมู่ 6 ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,130 ครัวเรือน วัด 4 แห่ง ถนน 2 สาย สถานที่ราชการ 7 แห่ง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 300 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก นำเจ้าหน้าที่เดินเท้า นำเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ร่วมกับอำเภอและหน่วยทหาร

กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 134 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 ร่วมกับมูลนิธิใจถึงใจ ร่วมทำความสะอาดโรงเรียน ตชด.สุนทรเวช ที่บ้านสะเนพ่อง โรงเรียน ตชด.สหธนาคารกรุงเทพ บ้านเวียคะดี้ ตำบลหนองลู

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติร่วมกับ กสทช.สถาปนาและดำรงระบบการสื่อสารวิทยุแม่ข่ายจุดเขาไม้แดง และเข้าเดินเท้าสำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้งวิทยุสื่อสารแม่ข่ายในพื้นที่ห่างจากจุดเขาไม้แดงระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

กาชาดจังหวัดร่วมกับกิ่งกาชาดอำเภอสังขละบุรี รับบริจาคสิ่งของข้าวสารเครื่องอุปโภคบริโภคขนมและเสื้อผ้า องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ ผลิตอาหารกล่อง นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่หมู่ 3 บ้านเกาะสะเดิ่ง และนำเครื่องจักรกลปรับพื้นที่บริเวณหน้าศูนย์พักพิงชั่วคราว และเส้นทางเข้าออกหมู่ที่ 3 หมู่บ้านไล่โว่ ถึงหมู่ที่ 1 บ้านสะเนพ่อง

องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ร่วมกับโรงพยาบาลสังขละบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยและจัดกิจกรรมในศูนย์พักพิงชั่วคราว การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 61 มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณหอประชุมหน้าสนามฟุตบอลข้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่

โดยมีการจัดอพยพประชาชนจากบ้านสะเนพ่องหมู่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 262 คน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล มอบหมายให้กาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอ รับผิดชอบสิ่งของที่นำมาบริจาค

พร้อมมอบหมายให้โรงพยาบาลสังขละบุรีจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการในศูนย์พักพิงชั่วคราว หน่วยงานและทรัพยากรที่เข้าสนับสนุนในพื้นที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ ทหาร มูลนิธิอาสาสมัคร จิตอาสา จาก 19 หน่วยงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน รวมกัน จำนวน 340 คน


จากการสอบถามผู้นำในหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ทราบว่าราษฎรในหมู่บ้านยังมีขวัญดีและยังคงต้องเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง มีการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 1 กิโลเมตร เผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้รายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ปัจจุบันปริมาณฝนได้เบาบางลงทำให้น้ำลดลงการสัญจรไปมาสามารถเดินเท้าเข้าออกหมู่บ้านได้ โดยการจัดทำสะพานไม้ไผ่แทนสะพานเหล็ก ที่น้ำพัดเสียหายไป

ส่วน พ.อ.พิเชษฐ์ หัสดีผง รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างต่อเนื่อง ส่วนแศษกิ่งไม้และเศษสวะ ที่ลอยมาติดที่เสาสะพาน ก็ได้ร่วมกับทุกหน่วยงาน ดำเนินการขนย้ายจนแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.ซึ่งปัจจุบัน นักท่องเที่ยวรวมทั้งประชาชน สามารถเดินผ่านไปมาได้แล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ดำเนินการปรับเพิ่มการระบายน้ำในเขื่อน ตามที่กรมชลประทานขอปรับแผนการระบายน้ำจากวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 23 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งยืนยันว่าเป็นการระบายน้ำตามปกติ ทางเขื่อนได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำให้ขยับขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูง

นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณที่รับได้ประมาณ 8,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันน้ำมีประมาณ 6,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,700 ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บกักได้อีกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน จะมีน้ำฝนเข้าเดือน มิ.ย.-ก.ย. เป็นประจำทุกปี ทางเขื่อนมีแผนการเก็บกักระบายน้ำทั้งปี โดยให้บริหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ และตามกรมชลประทานร้องขอและภัยแล้งที่ต้องเก็บกักน้ำ เป็นการบริหารน้ำให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดอุทกภัยกับประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำได้

การที่เขื่อนวชิราลงกรณ ขอปรับการระบายน้ำจากวันละ18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 23 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.ไปจนถึงวันที่ 29 ก.ค. ถือว่าเป็นการระบายน้ำที่ปกติ และทางเขื่อนมีการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำตลอดเวลา






กำลังโหลดความคิดเห็น