เชียงราย- ชาวสวนสับปะรด ระทมหนักหลังผลผลิตออกมาจนล้นไม่มีผู้ผลิตผลไม้แปรรูปรายใดเข้ามารับซื้อในพื้นที่ จนทั้งวัดและหน่วยงานอปท.ในพื้นที่เข้ามาช่วยรับซื้อในราคาถูกอีกทั้งนำไปบริจาคยังที่ต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่หมดในพื้นที่เพาะปลูกยังเหลืออีกเพียบสุดท้ายทุกสวนต้องปล่อยให้เน่าคาต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่วัดห้วยปลากั้ง ชุมชนริมกก ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ได้มีเกษตรกรจำนวนมากขนผลผลิตสับปะรดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ปัตตาเวียไปจำหน่ายให้กับทางวัดในราคากิโลกรัมละ 1 บาท โดยทางพระอาจารย์พบโชค ติสสะวังโส เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้งให้ลูกศิษย์ลูกหารับซื้อจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงผลผลิตราคาตกต่ำหรือแทบไม่มีคนรับซื้อ จากนั้นนำขนไปแจกจ่ายตามจุดต่างๆ ของ จ.เชียงราย เช่น ห้าแยกพ่อขุน แยก สภ.เมืองเชียงราย ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเนื่องจากหลังจากมีการนำไปแจกจ่ายตามจุดต่างๆ พบว่ามีปริมาณที่ล้นเหลือ ทำให้ล่าสุดทางวัดได้นำบรรจุรถ 6 ล้อขนาด 9 ตันส่งไปแจกฟรีตามจุดต่างๆ ของประเทศไทยที่มีความต้องการสับปะรดฟรีแล้ว
ขณะที่ที่สถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย นายสมควร ณ ลำปาง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 เป็นตัวแทนนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายศรีศักดิ์ ธานี ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย รับซื้อผลผลิตสับปะรดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย พะเยา แพร่และน่าน จำนวน 500 ตันในราคากิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับฉีดรดต้นไม้และย่อยสลายไถกลบตอซังซึ่งก็จะนำย้อนกลับไปช่วยเหลือเกษตรกรด้วยซึ่งพบว่ามีผู้ผลผลิตไปจำหน่ายให้อย่างล้นหลามเช่นกัน
วันเดียวกันทางเทศบาล ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ได้ร่วมกับบริษัทสมบัติทัวร์ จำกัด ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการปล่อยขบวนสับปะรดเพื่อนำส่งผ่านเครือข่ายของบริษัทที่มีการเดินทางไปทั่วประเทศจำนวนหลายตันด้วย โดยมีการปล่อยขบวนจากหน้าบริษัทสมบัติทัวร์ ติดถนนพหลโยธิน ต.นางแล ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ นายอำเภอเมืองเชียงราย เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวน
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่าหนึ่งในปัญหาของการพัฒนาเศรษฐกิจ จ.เชียงราย คือเรื่องของการปรับตัวโดยกรณีของพืชเกษตรนั้นในปี 2560 ตนเคยตระเวนไปพบปะกับเกษตรกรตามพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพราะพบว่ามีพืชเกษตรประเภทสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียปลูกกันมากกว่า 50,000 ไร่ จึงได้แนะนำไม่ให้ปลูกเพิ่มโดยพยายามรักษามาตรฐานนี้ไว้แต่ปรากฎว่าปีนี้กลับมีการปลูกเพิ่มเติมขึ้นเป็นกว่า 120,000 ไร่จนเกิดภาวะล้นตลาดดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็พยายามเร่งระบายตลาดให้กับเกษตรไปจนกว่าจะพ้นฤดูกาลอย่างเต็มที่ต่อไป
ด้านนายสุรเกียรติ เฌอมือ อายุ 36 ปีเกษตรกรชาว ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย กล่าวว่าตนปลูกสับปะรดที่ ต.นางแล จำนวน 20 ไร่และร่วมกับเพื่อนเกษตรกรปลูกที่ อ.ดอยหลวง รวมกันอีกประมาณ 50 ไร่โดยเช่าไร่ละ 500 บาทต่อปี เพราะเมื่อฤดูกาลปี 2560 ราคาผลผลิตสูงถึงกิโลกรัมละ 12-13 บาท จึงพากันปลูกโดยมีผู้นำต้นกล้าจากจังหวัดทางภาคตะวันออกไปขายนับแสนต้นกล้า เมื่อนำมาปลูกก็ปรากฎว่าราคาปีนี้ตกต่ำหนักขายไม่ได้จนต้องปล่อยให้เน่าคาต้น กระทั่งพระอาจารย์พบโชคได้มาช่วยซื้อกิโลกรัมละ 1 บาทจึงนำมาขายเพื่อให้ได้ทุนคืนบ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด
นายสุรเกียรติ กล่าวอีกว่าราคาต้นทุนที่จะทำให้อยู่รอดได้คือกิโลกรัมละ 3 บาทขึ้นไป แต่ก็ถือว่าได้รับเงินคืนบ้างและได้ร่วมทำบุญกับวัดห้วยปลากั้งรวมทั้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับประทานผลไม้ไทยคุณภาพดีจากเชียงรายด้วย สำหรับปีถัดไปก็ยังไม่รู้ว่าจะปลูกพืชชนิดใดแต่เนื่องจากต้นปลาสับปะรดก็ยังคงเหลืออยู่ในสวนก็อาจจะปลูกสับปะรดกันต่อไปเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าที่ดินซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้จ่ายกันเลยต่อไป
ขณะที่นายณัฐวุฒิ คงสระบัว อายุ 73 ปี เกษตรกรชาวบ้านแม่ข้าวต้ม หมู่ 8 ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมืองเชียงราย กล่าวว่าปีนี้มีการรับซื้อผลผลิตอย่างมากก็ราคากิโลกรัมละ 1-2 บาท แต่การปลูกสับปะรดนั้นได้ผลผลิตไร่ละประมาณ 2,000 กิโลกรัม เสียต้นทุนไร่ละ 4,000-5,000 บาท และไร่ปลูกใหม่ไร่ละ 9,000-10,000 บาท ดังนั้นราคาที่จำหน่ายได้จึงอยู่ในภาวะขาดทุนแต่การที่มีหน่วยงานองค์กรต่างๆ เข้าไปช่วยก็ถือว่าต้องขอบคุณอย่างมากที่ช่วยทำให้ลืมตาอ้าปากขึ้นได้บ้างหรือได้ทุนคืนบ้าง.