ระยอง- อุตฯระยอง สนธิกำลังร่วมฝ่ายปกครอง และกอ.รมน.เข้าตรวจโรงงานหลอมพลาสติกของนักลงทุนชาวจีน หลังได้รับร้องเรียนว่า กองวัสดุภายนอกอาคารโรงงาน หวั่นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตราย เบื้องต้นพบไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เมื่อเวลา 14.30น.วันนี้(22 มิ.ย.) นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีโรงงานหลอมพลาสติกต้องสงสัย กองวัสดุภายนอกอาคารโรงงานจำนวนมาก หลังรับแจ้งจึงเดินทางพร้อมด้วย นายอภิรักษ์ อ่ำสุริยะ หัวหน้าฝ่ายโรงงาน แล ะนายณชรพงศ์ บุญทา วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ,นายธัชพล เอี่ยมงาม ปลัดอำเภอเมืองระยอง และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จ.ระยอง ,เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นำกำลังเข้าตรวจสอบ บริษัท หัวไท่ พลาสติก จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 999 ถนนชากกลาง -มิตรประชา ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง โดยมี นายคน ทุน โอ (Khon Tun OO) ชาวจีน ซึ่งใช้ชื่อไทย นายสุวิทย์ แซ่หยาง เป็นตัวแทนบริษัท ฯ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ
โดยพบกองเศษพลาสติกบรรจุในถุงจัมโบ้ วางเรียงรายอยู่นอกอาคาร จำนวน 500 ตัน และภายในอาคารยังมีคนงาน กำลังเดินเครื่องจักรหลอมพลาสติกตามปกติ
จากการตรวจสอบพบโรงงานดังกล่าวมีใบอนุญาตประกอบกิจการหลอมเม็ดพลาสติกเกรดบี ผู้ได้รับอนุญาตใช้ชื่อ นายรัชชัย เพียรทำดี เป็นโรงงานลำดับที่ 53 (5) ซึ่ง บริษัท หัว ไท่ พลาสติก จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าจาก นายรัชชัย แต่ยังไม่ได้ทำการโอนอย่างถูกต้อง
นายคน ทุน โอ กล่าวว่าเศษพลาสติก จำนวน 500 ตัน เป็นของบริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด ที่ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการหลอมเป็นเม็ดพลาสติก
ขณะที่ นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องแจ้งเรื่องไปยังกรมโรงงาน เนื่องจาก บริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเศษพลาสติก ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมพ.ศ. 2551 ในการขออนุญาตนำเข้า
และจะต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาตและดำเนินการทางกฏหมายรวมทั้งส่งเรื่องให้กรมศุลกากร และกระทรวงอุตสาหกรรม ให้พิจารณายกเลิกใบอนุญาตในการนำเข้า ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าว มีการนำเข้าและกระจายไปตามโรงงานหลายแห่ง ซึ่งผิดเงื่อนไขตามประกาศกระทรวง พ.ศ.2551นำเข้าเศษพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว และไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
ส่วนบริษัท หัวไท่ พลาสติก จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าโรงงานจาก นายรัชชัย เพียรทำดี เจ้าของใบอนุญาต แต่ไม่มีการโอนให้ถูกต้องภายใน 7 วัน ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา ตั้งโรงงานและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และจากการตรวจสอบในครั้งนี้ ไม่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด.