xs
xsm
sm
md
lg

เตือนระวัง! “โรคใบด่าง” ระบาดหนักในไร่มันฯ กัมพูชา ไทยผวาสกัดเข้มชายแดนห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์เด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศรีสะเกษ - อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รุดลงพื้นที่ชายแดนด้านศรีสะเกษ เตือนเฝ้าระวัง “โรคใบด่าง” ระบาดหนักในไร่มันฯ กัมพูชา ไทยสกัดเข้มชายแดนห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของมันฯ จากกัมพูชาเด็ดขาด เผยไม่เคยระบาดในไทยมาก่อน ผวาเล็ดลอดกระทบเกษตรกร ทำอุตฯ มันและเศรษฐกิจไทยเสียหาย


วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เดินทางไปประธานในพิธีเปิดการประชุมเรื่องการแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อต้องการแจ้งให้เกษตรกรและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จากนั้นได้เดินทางไปที่จุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อติดตามการคุมเข้มห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของมันสำปะหลัง ยกเว้นมันเส้น และหัวมันสดนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร อย่างเต็มที่ โดยมีนายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับและมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสับประหลังในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เข้าร่วมรับการอบรมเป็นจำนวนมาก


นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus มักจะแพร่ระบาดในทวีปเอเชียพบการระบาดในอินเดีย และศรีลังกา ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานว่ามีการแพร่ระบาดในพื้นที่ประเทศกัมพูชา โดยรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังไปยังพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดรัตนคีรี (Rattanakiri) สตึงแตรง (Steung Treng) กำปงทม (Kampong Thom) มนดูคีรี (Mondulkiri) และกำปงจาม (Kampong Cham)

โดยในเดือนสิงหาคม 2560 ได้รับรายงานว่า พบอาการคล้ายโรคใบด่างในมันสำปะหลังที่จังหวัดบันเตียเมียนเจย (Banteay Mean Chey) พระตะบอง (Battambang) และไพลิน (Pailin) ในเดือนมิถุนายน 2560 ได้มีรายงานการพบโรคใบด่างในอำเภอ Tan Chau, Tan Bien และ Chau Thanh จังหวัดเต็ยนิญ (Tay Ninh) ของประเทศเวียดนาม ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2560 ได้มีรายงานการพบโรคใบด่างมันสำปะหลังเพิ่มอีก 2 อำเภอ ได้แก่ Go Dau และ Hoa Thanh จังหวัดเต็ยนิญ (Tay Ninh)

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าเป็นโรคที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน หากโรคดังกล่าวหลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ อาจสร้างความสูญเสียให้แก่เกษตรกร และกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยได้

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า โรคใบด่างสำปะหลังจะแสดงอาการคือใบด่างจนถึงเหลือง ใบเสียรูปทรง ต้นเตี้ย ลำต้นแคระแกร็น และทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 80% โดยมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค ประเทศไทยได้กำหนดให้โรคใบด่าง เป็นศัตรูพืชกักกันตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 และห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของมันสำปะหลัง ยกเว้นมันเส้น และหัวมันสดจากประเทศกัมพูชา

ขณะนี้ปัญหามีอยู่ว่าทุกวันนี้ประเทศกัมพูชาเป็นแหล่งระบาดของโรค หากเชื้อดังกล่าวเล็ดรอดเข้ามาระบาดในไทย อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อมันสำปะหลัง 80-100% และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย รวมถึงยังมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงด้วย

กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดแนวทางป้องกันและเฝ้าระวังโรคเชื้อไวรัส Cassava Mosaic Virus โดยมี 2 แนวทาง คือ ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าท่อนพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ของมันสำปะหลังอย่างเด็ดขาด ควบคุมและป้องกันการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของมันสำปะหลังเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น