กาญจนบุรี - นายกฯ ไร่อ้อยนำกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 บุกศาลากลาง ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านพ่อเมืองกาญจน์ เร่งแก้ไข พ.ร.บ.ชาวไร่อ้อยให้มีเอกภาพ ให้เสร็จก่อนปีการผลิต 2561/62 หากยังช้าขู่รวมตัวหน้าทำเนียบแน่
วันนี้ (31 พ.ค.) นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นายปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย อดีต ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เป็นจำนวนมาก เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย และขอให้สนับสนุนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเสนอ โดยมี นายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้รับเรื่อง แต่ทั้งนี้ เนื่องจากมีสมาชิกกลุ่มชาวไร่อ้อยเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงให้ส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันภายในศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการเจรจาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ
จากนั้น นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 จึงออกมายื่นหนังสือให้แก่ นายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่หน้าศาลากลาง เพื่อให้สมาชิกทุกคนที่มาได้เห็นเพื่อเป็นประจักษ์พยาน โดยหนังสือที่ยื่นร้องเรียน ระบุว่า จากปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 และต่อเนื่องถึงปี 2561/62 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนรัฐบาลได้รับทราบข้อเท็จจริงถึงความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย
สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 ขอนำเสนอปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยนำเรียนผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนำเรียนต่อรัฐบาลให้รับทราบ และหาทางช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาก่อนที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรืออาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย ดังนี้
1.ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายปี 2560/61 ส่งผลกระทบ และสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย และชาวนาเป็นอย่างมากดังนี้
1.1 นโยบายส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 92.95 ล้านตัน เป็น 134.77 ล้านตัน (ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2561) โดยการเพิ่มขึ้นนั้นมาจากพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น มิใช่จากการเพิ่มของผลผลิตตันต่อไร่ ซึ่งในแต่ละปีระยะเวลาหีบของโรงงานมีระยะเวลาที่จำกัด เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และคุณภาพอ้อยก็จะแย่ลง ต้นทุนสูงขึ้น เป็นผลให้ในปีการผลิต 2560/61 มีอ้อยเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
1.2 การควบคุมน้ำหนักการบรรทุกอ้อยส่งโรงงาน การจำกัดน้ำหนักการบรรทุกอ้อย การจำกัดความสูงที่ 3.6 เมตรนั้น ส่งผลกระทบให้มีปริมาณอ้อยคงเหลือ เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว กอปรกับปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น เป็นผลให้ชาวไร่อ้อยไม่สามารถนำอ้อยส่งโรงงานได้หมดตามฤดูหีบ จึงมีปริมาณอ้อยเหลือค้างอยู่
1.3 การกำหนดให้โรงงานน้ำตาลหยุดช่วงเทศกาลต่างๆ ในฤดูกาลหีบอ้อย ชาวไร่อ้อยต้องหยุดตัดอ้อย ทำให้การตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลล่าช้าลงไปอีก จึงส่งผลให้ตัดอ้อยเข้าโรงงานไม่หมด
1.4 การกำหนดนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เข้มงวด มองในแง่ความมั่นคงของประเทศเป็นข้อกำหนดที่ดี แต่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมากที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 4-5 เดือน หากไม่สามารถนำเข้าแรงงานกลุ่มนี้ได้ หรือการนำเข้ามีอุปสรรคมากก็ส่งผลให้ไม่สมารถตัดอ้อยได้เสร็จทันในฤดูกาลผลิต ทำให้เกษตรกรมีอ้อยคงเหลือในไร่ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนตามมาอีก
2.ราคาอ้อยที่ตกต่ำ ฤดูกาลผลิตปี 2560/61 และปีการผลิต 2561/62 สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก มีการบริโภคภายในประเทศเพียง 2.6 ล้านตัน และในกลุ่มประเทศผู้ผลิต เช่น ไทย อินเดีย บราซิล มีปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมา มีราคาอยู่ที่ประมาณ 18 เซ็นต์/ปอนด์ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11 เซ็นต์/ปอน ในปัจจุบัน
รวมถึงโครงสร้างรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาจากราคาน้ำตาลเพียงอย่างเดียว เป็นผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้รับในปี 2560/61 อยู่ที่ตันอ้อยละ 880 บาท ที่ 10 ซี.ซี.เอส. และมีข้อเท็จจริงขณะนี้ปรากฏว่า ราคาอ้อยชั้นสุดท้ายปีการผลิต 2560/61 จะติดลบไม่ต่ำกว่า 100 บาท/ตัน หมายถึงชาวไร่อ้อยไม่ได้รับเงินเพิ่ม
ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนี้จะต่อเนื่องไปยังฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ที่คาดว่าราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อตันอ้อย ที่ 10 ซี.ซี.เอส. ซึ่งหากราคาอ้อยเป็นไปตามประมาณการดังกล่าว เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก ก่อให้เกิดหนี้สินตามมา ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และครอบครัวอย่างสาหัส เพราะการกำหนดราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยได้รับควรไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตการปลูกอ้อย
3.ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 20,000 ราย ได้เข้าชื่อในการเสนอร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... และจำนวนกว่า 200 ราย ได้เดินทางไปยื่นร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น
เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในฐานะผู้ผลิต และถือว่าเป็นผู้ผลิตต้นน้ำได้มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงขอยืนยัน และขอความสนับสนุนให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... ตามร่างที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเสนอ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
3.1 ให้มีการปรับปรุงการเพิ่มรายได้จากการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนผลพลอยได้ เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีราคาอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้น
3.2 ยืนยันความเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยที่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่เสนอ คือ การเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยต้องมีคุณสมบัติเดียวกันทุกองค์กร และต้องมีปริมาณอ้อยของสมาชิกส่งโรงงานน้ำตาลใดโรงงานหนึ่งไม่ต่ำกว่า 55 เปอร์เซ็นต์
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะทำให้การรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยมีเอกภาพยิ่งขึ้น และนำเรียนรัฐบาลให้หาแนวทางช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยเป็นการด่วน เพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมตัวกันมาเรียกร้องต่อรัฐบาลที่หน้าทำเนียบ ก่อนจะมีการเปิดหีบในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวแล้ว ก็ได้แจ้งให้แก่สมาชิกสมาคมกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ทราบว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยเขต 7 โดยด่วน