xs
xsm
sm
md
lg

ส่องวิถีชาวสวนลับแล บึ่ง จยย.ขนหลง-หลินลับแลลงดอยผามูบ ดังไกลจีนบินมากิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุตรดิตถ์ - ตามส่องวิถีชาวสวนทุเรียนเมืองลับแล ห้อจักรยานยนต์วิบากขนสุดยอดทุเรียนหลง-หลินลับแลลงยอดดอยผามูบ จนชื่อเสียงดังไกลติดอันดับทุเรียนอร่อยอันดับต้นๆ เมืองไทย ทำนักท่องเที่ยวจีนเหมาลำมาซื้อ-กินถึงที่



แม้จะรู้กันดีว่าแหล่งทุเรียนไทยคือ ภาคตะวันออก แต่ทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าแพงและอร่อยในระดับต้นๆ ของเมืองไทยกลับกลายเป็นทุเรียนจากภาคเหนือ ซึ่งคอทุเรียนคงจะปฏิเสธกันไม่ได้ว่าไม่รู้จักทุเรียนลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หลงลับแลที่ราคาแพงปานกลาง และหลินลับแลที่ราคาสูงลิ่วไต่ระดับไปที่กิโลกรัมละเกือบพันบาทกันเลยทีเดียว

นายพิชญ ช่วยบุญ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนแห่งเมืองลับแล เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นเขยลับแล ได้ภรรยาเป็นคนอำเภอลับแล คลุกคลีอยู่กับทุเรียนเมืองลับแลมานานแล้ว ได้พบเห็นและปฏิบัติทุกขั้นตอนการผลิตทุเรียนเมืองลับแล ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการดูแลรักษา การจัดเก็บและรวมทั้งการตลาดด้วย

“ต้องยอมรับว่าทุเรียนลับแล โดยเฉพาะพันธุ์หลงและหลินลับแลนั้น กว่าจะได้มาต้องลำบากกันไม่น้อยเลย แต่ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะมีลักษณะที่ดี อร่อย และขายได้ในราคาที่ดี สมกับความขยันขันแข็งและมุมานะของเกษตรกรชาวลับแล”

พื้นที่การปลูกทุเรียนของชาวลับแลส่วนใหญ่จะอยู่บนดอยที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 400-500 เมตร มีอากาศเย็นแทบตลอดทั้งปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุเรียนลับแลมีคุณภาพที่ดี แม้ว่าจะมีการทดลองนำพันธุ์ทุเรียนจากที่นี่ไปปลูกที่อื่น ก็ไม่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเหมือนเช่นที่ปลูกที่อำเภอลับแล

ส่วนใหญ่ทุเรียนลับแลมีแหล่งเพาะปลูกที่ดอยผามูบ ต.แม่พูล ลักษณะเป็นดอยสูง การคมนาคมลำบาก มีเพียงถนนเส้นเล็กๆ เท่านั้นที่ใช้เดินทางไปบนสวนเพื่อดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งนับว่าชาวสวนทุเรียนแห่งเมืองลับแลนี้เสี่ยงภัยกันไม่น้อยเลยทีเดียว ในช่วงที่ทุเรียนออกที่จะตรงกับฤดูฝน


ชาวบ้านต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการขึ้นไปขนทุเรียนบรรทุกในตะกร้าหลังที่ติดไปกับรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อขนทุเรียนลงมาจากสวนส่งขายในท้องตลาด

นายพิชญบอกว่า สมัยก่อนที่ทุเรียนอร่อยแห่งเมืองลับแลยังไม่ได้แพร่หลายสู่โลกภายนอก มีเพียงแค่การปลูกเพื่อบริโภคในท้องถิ่น หรือวางขายในอุตรดิตถ์เท่านั้น และราคาไม่สูงมากนัก แต่ได้มีการสนับสนุนจากภาคราชการ ทางจังหวัดได้จัดให้มีการประกวดทุเรียนพื้นเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการยกระดับและประชาสัมพันธ์ให้ได้รู้จักกันไปในวงกว้าง ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นอย่างดี เพราะได้สร้างชื่อเสียงให้กับทุเรียนอุตรดิตถ์ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน


“เพราะคุณภาพของทุเรียนที่มีรสชาติที่อร่อยจริง มีลักษณะที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคที่นิยมรับประทานทุเรียนทั่วประเทศ โด่งดังไปจนถึงประเทศจีนที่มีผู้นิยมรับประทานทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก ถึงกับมีการจองทั้งต้นไว้ข้ามปีและเหมาเครื่องบินมากินทุเรียนลับแลและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนทุเรียนกันเลยทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม นอกจากหลงลับแล และหลินลับแลแล้ว อุตรดิตถ์ก็ยังมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้เข้าสู่ท้องตลาดอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไหลหัวดง ที่มีเนื้อเนียนละเอียดเป็นสีทองสวย และยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งปีนี้ทางจังหวัดอุตรดิตถ์มีแผนจะจัดงานการประกวดทุเรียนประจำปีขึ้นประมาณกลางเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคมนี้ เพื่อสนับสนุนทุเรียนพื้นเมืองให้มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น