กาฬสินธุ์ - ส่งท้ายบุญเดือนหก อบต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย ร่วมกับชาวบ้านจัดงานบุญบั้งไฟ สืบสานประเพณีของชาวอีสานตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ บูชาพญาแถนและหลวงปู่บุญธรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก่อนจะลงมือทำนาปี เผยเป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานอาศัยฟ้าฝนเพียงอย่างเดียว
ที่วัดสระแคนนามล บ้านนามล ต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายคงเดช เฉิดสถิตย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายสายัน กมลมูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสมบูรณ์ ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและชาวบ้านทั้ง 9 หมู่จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟโคกสมบูรณ์ ประจำปี 2561 สืบสานประเพณีของชาวอีสานตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ บูชาพญาแถนและหลวงปู่บุญธรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่อายุกว่า 300 ปีของชาวโคกสมบูรณ์และใกล้เคียง
ทั้งนี้ เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก่อนจะลงทำนาปีและให้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ ต.โคกสมบูรณ์เป็นตำบลเดียวในอำเภอกมลาไสยที่อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำจากฝนตามฤดูในการทำนา เพาะปลูกพืช และใช้อุปโภค บริโภค
นายสายัน กมลมูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสมบูรณ์ เล่าว่า พื้นที่ ต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย มีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 6,000 คน งานบุญบั้งไฟถือเป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสานที่มีมายาวนาน โดยเรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” คืองานบุญที่ต้องทำทุกๆ เดือนตลอด 12 เดือน ซึ่งงานบุญบั้งไฟคือบุญเดือนหก และงานประเพณีของตำบลโคกสมบูรณ์ที่มีชื่อเสียงคืองานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อบวงสรวงบูชาพญาแถน และหลวงปู่บุญธรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่อายุกว่า 300 ปีของชาวโคกสมบูรณ์และใกล้เคียง
“งานบุญบั้งไฟจัดขึ้นเพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และยังเป็นการสร้างความสนุกสนานรื่นเริงของคนในชุมชนให้เกิดความผ่อนคลายก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการทำนา” นายสายันกล่าว และว่า
สำหรับพื้นที่ตำบลโคกสมบูรณ์นั้น ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม แต่เป็นพื้นที่ตำบลเดียวจาก 8 ตำบล 10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอำเภอกมลาไสยที่อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อใช้ทำนา เพาะปลูกพืช และเพื่ออุปโภค บริโภค การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟจึงเป็นกิจกรรมที่ชาวตำบลโคกสมบูรณ์สืบทอดกันมาทุกปี
โดยภายในงานมีทั้งขบวนแห่บั้งไฟที่มีการประดับประดาอย่างสวยงาม และมีชาวบ้านร่วมขบวนฟ้อนรำกันอย่างพร้อมเพรียงรอบหมู่บ้าน ซึ่งปีนี้ขบวนแห่บั้งไฟแบ่งออกเป็น 3 ขบวนจาก 9 หมู่บ้าน ก่อนที่จะนำบั้งไฟที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นไปจุดส่งสัญญาณถึงพญาแถนว่าเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ขอให้ดลบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ชาวบ้านได้ทำไร่ทำนา