ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิจัยหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ม.เชียงใหม่ ชี้ การฟื้นฟูป่าบริเวณโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ ควรจัดการสิ่งปลูกสร้างให้เสร็จก่อนเริ่มกระบวนการฟื้นฟูป่า โดยต้องคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่จะปลูกให้เหมาะสมดังเดิมและสอดคล้องพื้นที่ป่ารอบข้าง คาดใช้เวลาในส่วนของการลงมือฟื้นฟูประมาณ 2 ปี แต่ต้องรอไม่ต่ำกว่า 20 ปีกว่าจะเริ่มกลับมามีสภาพป่า ขณะที่ธนารักษ์เชียงใหม่นำเข้ารังวัดพื้นที่ตามแนวเขตป่าดังเดิมในโครงการวันนี้ ครอบคลุมบ้านพัก 45 หลัง และอาคารที่พัก 9 หลัง โดยอนุญาตให้เข้าเฉพาะเจ้าหน้าที่รังวัด
นายจตุภูมิ มีเสนา นักวิจัย หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณพื้นที่โครงการดังกล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าการฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณดังกล่าวควรจะต้องทำหลังจากที่มีการจัดการกับสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้วจะดีที่สุด เพราะหากมีการฟื้นฟูปลูกป่าไปก่อน เมื่อมีการจัดการหรือย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไปในภายหลังย่อมจะส่งผลกระทบทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไปได้รับความเสียหายอยู่ดี ดังนั้น หากเป็นได้อยากให้มีการดำเนินการจัดการสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มทำการฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถดำเนินการได้เลยในเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูป่าคือการสำรวจและศึกษาข้อมูลพันธุ์ไม้ที่อยู่ในป่าบริเวณโดยรอบโครงการบ้านพักดังกล่าว เพื่อทำการคัดเลือกพันธุ์สำหรับการนำมาปลูกฟื้นฟู ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ที่ฟื้นฟูแล้วเป็นป่าดั้งเดิมจริงๆ จากการที่มีพันธุ์ไม้เหมือนกันและเหมือนเดิมกลมกลืนกับพื้นที่ป่าที่อยู่บริเวณเดียวกัน ซึ่งน่าจะได้แก่ ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นเหียง ต้นพลวง เป็นต้น
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเพื่อให้พื้นที่กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ดังเดิมนั้น นายจตุภูมิบอกว่า สิ่งแรกควรดำเนินการหากมีการจัดการกับสิ่งปลูกสร้างเรียบร้อยแล้วก็คือการปรับสภาพพื้นที่ให้มีความลาดชันน้อยลงเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการพังทลายของหน้าดิน จากนั้นทำการสำรวจสภาพของดินในพื้นที่เพื่อทำการปรับปรุงดินให้พร้อมปลูกต้นไม้ฟื้นฟู ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกนอกจากจะต้องเป็นพันธุ์ไม้เดิมที่เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ต้องเป็นต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดด้วยไม่ใช่การล้อมย้ายจากที่อื่นมาปลูก เพื่อให้มีระบบรากที่ช่วยยึดเกาะหน้าดิน โดยในขั้นตอนของการปรับสภาพดิน คัดเลือกพันธุ์ไม้ และปลูกต้นไม้นั้นจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นสามารถปล่อยให้ธรรมชาติค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองได้แล้ว อย่างไรก็ตาม กว่าจะเริ่มกลับไปมีสภาพเป็นป่าน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี และกว่าจะเป็นป่าที่มีความสมบูรณ์อาจจะใช้เวลามากกว่าร้อยปีก็เป็นไปได้
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงเช้าวันนี้ (10 พ.ค. 61) ที่โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นำโดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ร่วมกันเข้าดำเนินการรังวัดพื้นที่ตามแนวเขตป่าดังเดิมที่ครอบคลุมบ้านพัก 45 หลัง และอาคารที่พัก 9 หลัง ขึ้นไปทางดอยสุเทพ เพื่อเตรียมฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม และเตรียมส่งมอบให้อุทยานหรือป่าไม้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพร่วมกับภาคประชาชนต่อไป ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงและคำมั่นสัญญาร่วมกันที่เป็นผลสรุปจากการเจรจาหารือกันระหว่างเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 61 เพื่อแก้ไขปัญหากรณีโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การเข้าดำเนินการรังวัดในครั้งนี้อนุญาตให้เข้าพื้นที่เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรังวัดเท่านั้น โดยตัวแทนภาคประชาชนไม่ได้เข้าพื้นที่ด้วย แต่ร่วมสังเกตการณ์อยู่บนเนินดินในพื้นที่ที่อยู่ติดกันและมีการปักธงสีเขียว รวมทั้งผูกริบบิ้นเขียวกับต้นไม้เพื่อแสดงสัญลักษณ์การรณรงค์ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพด้วย