xs
xsm
sm
md
lg

แน่น! จนท.เร่งสางปัญหาบัตรคนไร้สถานะชายแดนภาคเหนือหมดอายุเกือบ 5 พันคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - พบคนไร้สถานะที่รอตรวจสอบสัญชาติและผู้ถือบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์แถบชายแดนภาคเหนือเพิ่มจำนวนมากขึ้น เจ้าหน้าที่แจงมีหลายสาเหตุเตรียมสางปัญหาพร้อมคำร้องค้างจำนวนมาก

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงรายแจ้งว่า ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเครือข่ายองค์กรเอกชนหลายองค์กรได้ร่วมกันตั้งจุดรับคำร้องเรื่องการขอมีบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือบัตรที่ขึ้นต้นเลขบัตรประจำตัวประชาชนด้วยเลขศูนย์ (0) ณ ศาลาอเนกประสงค์ของหลายหมู่บ้านตามชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เนื่องจากพบว่าประชากรดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและบางส่วนเคยมีบัตรนี้แต่ได้ถูกเพิกถอนบัตรไปด้วยหลากหลายสาเหตุ

ทั้งนี้มีรายงานว่า จากการสำรวจในปี 2553 มีประชากรบัตรหัวเลขศูนย์ใน จ.เชียงราย จำนวน 53,962 คน จากที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน 210,182 คน ซึ่งก็จะได้สิทธิเหมือนคนไทยแต่รอการพิสูจน์สัญชาติ

นายอริยะ เพ็ชร์สาคร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา หนึ่งในคณะทำงานของเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า สภาพการณ์ดังกล่าวพบว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ทางราชการเปิดให้ประชากรที่มีบัตรหัวศูนย์ได้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ในปี 2552 และปี 2554 รวม 2 ช่วงเวลา แต่เนื่องจากมีผู้ถือบัตรลักษณะนี้ตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากและเจ้าหน้าที่มีจำกัดรวมทั้งมีภารกิจด้านงานทะเบียนราษฎรล้นมือ จึงได้ใช้การบันทึกหรือคีย์ข้อมูลลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์นอกเวลา

และเมื่อกรมการปกครองปิดทำการตรงตามเวลาราชการทำให้เจ้าหน้าที่อาจคีย์ข้อมูลไม่สำเร็จ และเมื่อหมดระยะเวลาไปแล้วทำให้บุคคลที่เคยมีบัตรถูกจำหน่ายชื่อออกไปจนกลายเป็นปัญหาดังกล่าวในที่สุด

นายอริยะกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการที่บางส่วนของประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อทางราชการตามกำหนดระยะเวลา 2 ช่วงดังกล่าว บางส่วนก็เข้ามาในประเทศไทยหลังเงื่อนไขการได้บัตรตามที่ทางราชการกำหนดคือวันที่ 1 ต.ค. 2542 และอื่นๆ ซึ่งคาดว่ามีรวมๆ กันนับพันคน

ดังนั้น ทาง จ.เชียงรายจึงได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดและแต่ละอำเภอคือ อ.แม่สาย อ.แม่จัน และ อ.แม่ฟ้าหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับองค์กรเอกชน 5 องค์กรหลัก คือ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา มูลนิธิพัฒนาประชาชนบนที่สูง มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิแอดดร้า และองค์การแพลน เพื่อร่วมกันรับเรื่องและนำมาตรวจสอบคัดกรองตามขั้นตอนเพื่อหวังให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอริยะกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่จะเริ่มตรวจจากกลุ่มที่เข้ามาก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2542 ก่อน ส่วนกลุ่มคนที่เข้ามาภายหลังหรือที่อ้างว่าเข้ามาก่อนแล้วถูกจำหน่ายรายชื่อก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน โดยหากพบว่าเข้ามาภายหลังระยะเวลาที่กำหนดก็มีกระบวนการตามมาตรา 38 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎรที่สามารถเข้าไปกำหนดประชากรดังกล่าวได้แต่ต้องมีเงื่อนไข เช่น ต้องไม่ปรากฏสัญชาติต้นทาง อยู่ในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี เป็นต้น เพื่อให้ทางราชการพิจารณาต่อไปได้

“จากการทำงานมาตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. หนึ่งเดือนเต็มแล้วพบว่ายังมีปัญหาคนตกค้างอยู่จำนวนมาก และแต่ละคนก็มีปัญหามาก มีความละเอียดและยากด้วย ทำให้คาดว่าจะดำเนินการไปถึงปลายเดือน พ.ค.จึงจะเคลียร์คำร้องต่างๆ ได้ เพราะลำพังแค่รายชื่อที่เข้ามายังมูลนิธิแอดดร้าซึ่งเขาทำงานหลักอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วก็พบว่ามีกว่า 4,600 คนแล้ว” นายอริยะกล่าว

ด้านนางแสงคำ กันยา อายุ 68 ปี ชาว อ.แม่สาย ที่ไปยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่กล่าวว่า เดิมตนเคยมีบัตรหัวศูนย์ทำให้ใช้ชีวิตได้โดยสะดวก ต่อมาเจ้าหน้าที่ให้ไปรายงานตัวในปี 2552 และปี 2554 ก็เดินทางไปทุกครั้ง แต่ปรากฏว่าต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ขอตรวจบัตรแล้วแจ้งว่าหมดอายุแล้วให้ไปทำใหม่ ตนจึงได้ไปที่ที่ว่าการอำเภอแต่เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่ารายชื่อถูกจำหน่ายออกไปแล้ว ทำให้เดือดร้อนหนักจึงได้เดินทางมาแจ้งเรื่องพร้อมนำหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น