xs
xsm
sm
md
lg

เรียงเป็นตับ! ยึดโซเดียมไซยาไนด์ล็อตใหญ่ พบลอบขนออกชายแดนแม่สอดเข้าพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก - เจ้าหน้าที่ตรวจยึด “โซเดียมไซยาไนด์” สารตั้งต้นผลิตยานรกล็อตใหญ่คาชายแดนแม่สอด พบลอบขนปนกับของเล่น-รองเท้าแตะ รวมกว่า 3 ตัน มูลค่ากว่าล้าน ข้ามฝั่งแม่สอดเข้าเมียวดี


วันนี้ (30 เม.ย.) นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก, พล.ต.ต.ปริญญา วิศิษฐฎากุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก (ผบก.จว.ตาก ), นายวัลลภ วุฒาพาณิชย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด, พ.อ.อาสาฬหะ พูลสุวรรณ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 (ฉก.ร.14), นายชัยพฤกติ์ เขียรธารรักษ์ นายอำเภอแม่สอด, พ.ต.อ.ภาสกร กลั่นหวาน ผกก.สภ.แม่สอด พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมสารเคมี โซเดียมไซยาไนด์ ล็อตใหญ่

การจับกุมตรวจยึดมีขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณด่านฯสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 ตรวจค้นรถบรรทุกขนาดเล็กทะเบียนพม่า ที่บรรทุกสินค้ามาเต็มหลังรถ ทั้งของเล่นทำด้วยพลาสติก และรองเท้าแตะ นอกจากนี้ยังพบถังสีเขียวบรรจุโซเดียมไซยาไนด์ซึ่ง วัตถุอันตรายประเภท 3 ปะปนมาด้วย โดยไม่มีการสำแดงรายการให้เจ้าหน้าที่ จำนวน 70 ถัง น้ำหนักถังละ 50 กิโลกรัม รวม 3,500 กิโลกรัม ระบุแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐเช็ก รวมมูลค่าประมาณ 1,100,000 บาท

สารโซเดียมไซยาไนด์ สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท และนิยมใช้ในการสกัดทองในเหมืองทองคำ และใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท เช่น การย้อมสี การเพิ่มความแข็งให้กับเนื้อโลหะ เป็นต้น แต่อีกทางหนึ่งก็สามารถนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดอีกด้วย ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต

และสารนี้ยังเป็นสารเคมีควบคุม ตามบัญชี 2 ลำดับที่ 6 ท้ายประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่องกำหนดชื่อสารเคมี พื้นที่ควบคุม และหน้าที่ของผู้ทำธุรกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันการละกลอบนำสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด พ.ศ. 2559 และต้องปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2559 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เรื่องมาตรการป้องกันการลักลอบนำสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภท ไปใช้ผลิตยาเสพติด

เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวคนขับรถ พร้อมสินค้ามาที่ด่านฯ และตั้งข้อหานำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จและหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด ตามมาตรา 201 และ244 ประกอบกับมาตรา 166, 167 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560



กำลังโหลดความคิดเห็น