xs
xsm
sm
md
lg

เรือยักษ์พรึบ! จีนไฟเขียวรอบ 14 ปีรับไก่แช่แข็งล็อตแรกไปยูนนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ไก่แช่แข็งล็อตแรกในรอบ 14 ปีหลังไข้หวัดนกระบาดปี 47 เริ่มส่งออกแล้ววันนี้ผ่านท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จำนวน 14 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 35 ล้านบาท เผยจีนรับรองโรงเชือดสัตว์ปีกในไทยแล้ว 7 แห่ง ยังเหลือ 12 แห่ง หากผ่านหมดสร้างรายได้ เข้าประเทศ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านในแม่น้ำโขงของประเทศจีน ตั้งอยู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ห่างจาก อ.เชียงแสนประมาณ 263 กิโลเมตร โดยมีนายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่ประเทศจีนประจำ จ.เชียงใหม่ นายแพทย์ อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย นายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสน ผู้บริหารท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยพิธีจัดให้มีการปล่อยคาราวานสินค้าประเภทไก่แช่แข็งชุดแรกนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจำนวน 14 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ละ 27 ตัน มูลค่ารวมกันทั้งหมดประมาณ 35 ล้านบาท โดยสินค้าไก่แช่แข็งดังกล่าวจะถูกขนส่งไปด้วยเรือสินค้าแม่น้ำโขงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือสัญชาติจีนที่ถูกออกแบบใหม่ให้ใช้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นโดยเฉพาะเพื่อนำไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือกวนเหล่ยและกระจายไปยังตลาดของจีนต่อไป

พิธีเป็นไปด้วยความราบรื่นและสร้างความยินดีให้แก่ทุกฝ่ายเนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่เคยส่งออกในระบบไปยังประเทศจีนโดยตลอดมาเป็นเวลานาน ขณะที่ตลาดจีนมีความต้องการสูงและกลุ่มผู้ค้าในประเทศไทยก็ต้องการการส่งออกไปยังจีนตอนใต้อย่างมากเช่นกัน ทำให้มีการเตรียมเรือสินค้าขนาดใหญ่รองรับคอนเทนเนอร์ห้องเย็นในแม่น้ำโขงอย่างคึกคัก โดยหลายลำที่จอดรอรับสินค้ามีขนาดใหญ่โตกว่าเรือสินค้าที่เคยมี โดยมีน้ำหนักกว่า 874 ตัน ระวางบรรทุก 568 ตัน ยาว 61 เมตร กว้าง 9.50 เมตร กินน้ำลึกแค่ 2 เมตร สามารถบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้ถึง 15 ตู้ แต่ช่วงฤดูแล้งนี้บรรทุกได้เฉลี่ยเพียง 5-6 ตู้ โดยมีไว้รองรับสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะด้วย

นายนิวัติกล่าวว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อเป็นสินค้าที่ถูกส่งออกที่มีมากกว่าร้อยละ 85 ในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด ทำให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพัฒนาคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับในระดับโลก และปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากบราซิลและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หลายประเทศยังอนุญาตให้โรงงานผลิตเนื้อไก่ดิบสดแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงสุกของไทยส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สหภาพยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับประเทศจีนนั้น เดิมไทยส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปมาก แต่เนื่องจากในปี 2547 เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดจึงได้หยุดส่งออกไปนานร่วม 10 กว่าปี กระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายส่งเสริมการส่งออก และกรมปศุสัตว์ได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาตรวจสอบการผลิตในโรงงานของไทยจำนวน 19 แห่งแล้วมีความพึงพอใจ จึงมีข้อตกลงในการกลับมาส่งออกอีกครั้งดังกล่าวซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก

ด้านนายสัตวแพทย์ สมชวนกล่าวว่า ในครั้งนี้ทางการจีนได้รับรองโรงเชือดสัตว์ปีกในไทยแล้วจำนวน 7 แห่ง ทำให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการได้เป็นครั้งแรก และนับจากนี้ก็จะมีการส่งออกต่อไปอย่างต่อเนื่อง จะสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 7,000 ล้านบาท แต่หากในอนาคตมีโรงงานที่ผ่านการประเมินและสามารถส่งออกได้ครบทั้ง 19 แห่ง ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศไทยประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปีต่อไป

ขณะที่นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่ประเทศจีนประจำ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีนและเป็นแหล่งลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 กรณีสินค้าประเภทสัตว์ปีกจากไทยนั้นหลังจากเกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกทางการจีนได้เฝ้าติดตามการดูแลมาตรฐานในไทยอย่างใกล้ชิดเพราะต้องการฟื้นฟูนำเข้าจากไทยโดยเร็ว เนื่องจากตลาดจีนต้องการสินค้าประเภทนี้ปีละกว่า 10 ล้านตัน และในปี 2560 ที่ผ่านมาจีนนำเข้าสินค้าประเภทนี้ไปแล้วมูลค่ากว่า 450,000 ตัน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สินค้าจากไทยชุดใหม่จะสามารถเข้าไปแบ่งตลาดในจีนเพิ่มขึ้นทุกปีแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์โรคไข้หวัดนกระบาดเมื่อปี 2547 การส่งออกสินค้าสัตว์ปีกไปยังประเทศจีนต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นการส่งออกก็ทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากท่าเรือในประเทศจีนและไทยไม่มีระบบรองรับตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นและเรือก็ไม่ได้มาตรฐานเหมือนในปัจจุบัน

กระทั่งประเทศไทยมีการพัฒนาท่าเรือแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ที่ปากแม่น้ำกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นท่าเรือมาตรฐานที่รองรับระบบดังกล่าวได้

ขณะที่ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบาย One Belt One Road โดยกำหนดให้เมืองท่าเรือเมืองกวยเหล่ยเป็นช่องทางพิเศษช่องทางเดียวที่จะใช้เพื่อการขนส่งสินค้าประเภทแช่แข็ง อาหารทะเล ผักสดและผลไม้ทุกชนิดในเขต 3 มณฑลตอนใต้ จึงมีการทุ่มงบประมาณกว่า 63.5 ล้านหยวน หรือประมาณ 350 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตรให้มีระบบท่าเรือทันสมัย อาคารห้องเย็นสามารถรองรับอาหารแช่แข็งได้มากถึง 3,800 ตัน ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส สามารถหมุนเวียนอาหารแช่แข็งได้ปีละประมาณ 150,000 ตัน รวมทั้งรองรับผักสดและผลไม้ได้อีกด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น