xs
xsm
sm
md
lg

ผวาลาม! แค่ครึ่งปีดินเหมืองแม่เมาะทรุดตัวแล้ว 3 รอบ จากสนามกอล์ฟ-ชุมชน-กองดินทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - เปิดบันทึกเหตุดินเหมืองแม่เมาะสไลด์ทรุดตัว จากตุลาฯ 60 ถึงวันนี้เกิดขึ้นแล้ว 3 รอบ ไล่ตั้งแต่สนามกอล์ฟบนยอดกองดินทิ้ง-ชุมชนห้วยคิง ก่อนภูเขาดินทิ้งสูงนับร้อยเมตรจะสไลด์ตัวทับถนน-คลองส่งน้ำ-เสาไฟโค่น-สายพานลำเลียงดินพัง

กรณีดินสไลด์ทรุดตัวในพื้นที่รอบเหมืองแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กำลังทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หวาดผวากันมากขึ้น นอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาเรื่องมลภาวะที่มีการต่อสู้เรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน

ในห้วงเวลาครึ่งปีมานี้เคยเกิดเหตุดินสไลด์ตัวในพื้นที่ อ.แม่เมาะแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนตุลาคม 60 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้พื้นดินสนามกอล์ฟแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ (กฟผ.แม่เมาะ) เกิดการยุบตัวเป็นบริเวณกว้างเมื่อเย็นวันที่ 6 ต.ค.

จากการตรวจสอบพบว่าจุดเกิดเหตุเป็นจุดทิ้งดินที่มีการปรับปรุงเป็นสนามกอล์ฟ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2528 โดยดินบริเวณหลุมที่ 12 ของสนามกอล์ฟแม่เมาะที่อยู่ทางทิศตะวันตกใกล้กับบ่อเหมืองลิกไนต์ โดยดินพื้นที่ริมสนามกอล์ฟซึ่งอยู่ริมเนินเขาได้ยุบตัวและสไลด์เป็นทางยาวกว่า 300 เมตร ลึกกว่า 5 เมตร จนทำให้เสา-คานคอนกรีตที่ใช้เป็นฐานค้ำยันดินด้านบนของสนามกอล์ฟทรุดตัวลงด้วย

หลังเกิดเหตุผู้ดูแลสนามกอล์ฟก็ได้นำสายกั้นสีขาวแดงไปขึงเป็นแนวขวางไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าไปใกล้ที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าดินอาจจะทรุดตัวขยายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้น และทางสนามกอล์ฟได้งดไม่ให้นักกอล์ฟเข้าไปตีกอล์ฟบริเวณหลุม 12 ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดดินสไลด์เพิ่ม


ต่อมา 16 ต.ค. 60 เกิดเหตุดินแยก-ทรุดตัวกลางชุมชนบ้านห้วยคิง ม.6 ต.แม่เมาะ อ.เมาะ จ.ลำปาง ที่อยู่ห่างจากขอบเหมืองลิกไนต์ราว 2 กม. เป็นบริเวณกว้างกินพื้นที่รัศมีกว่า 12 ไร่ ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านได้รับผลกระทบแตกร้าวเสียหาย 9 หลัง โดยบางจุดดินทรุดตัวเกือบทั้งหมดจนทำให้บ้านเอนตัวออกจากกัน ต่อมานายชูชีพ บุนนาค นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ ได้ออกประกาศห้ามใช้พื้นที่ดังกล่าว และห้ามไม่ให้เข้าอยู่อาศัย เนื่องจากเกรงจะได้รับอันตรายจากการทรุดตัวของดินเพิ่มเติมอีก พร้อมทั้งให้ทำการรื้อบ้านออก

เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีได้ขุดเจาะชั้นดินลึกเพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของดิน เบื้องต้นได้เจาะลึก 4-5 เมตร แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนเจ้าหน้าที่ได้เข้าขุดเจาะตรวจสอบชั้นใต้ดินลึกลงไปอีกประมาณ 20 เมตรอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนเครื่องเจาะจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชั้นดิน


นายเด่นโชค มั่นใจ ผู้อำนวยการส่วนบริหารทรัพยากรธรณี สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง เปิดเผยถึงการตรวจสอบชั้นใต้ดินดังกล่าวว่า ชั้นดินด้านล่างลึกลงไป 20 เมตร ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ มีเพียงชั้นดินด้านบน 1-2 เมตรเท่านั้นที่เกิดการเลื่อนไถลในปริมาณดิน 25,000 คิว เนื้อที่ 8 ไร่

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดดินทรุด-แยกมาจากฝนที่ตกหนักในช่วงก่อนเกิดเหตุ จนทำให้ดินด้านบนที่ไม่แน่นเกิดการไถลตัวลง สำหรับแนวทางแก้ไข ได้แนะนำให้ทางจังหวัดลำปางพิจารณาดำเนินการใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1. ต้องรื้อถอนบ้านออก 2. ต้องขุดหน้าดินที่ไถลตัวออกไปในระดับ 2 เมตร หากจะมีการปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่อให้เกิดความมั่นคง และแข็งแรงต่อไป

ส่วนการป้องกันการไถลตัวของดินในกรณีที่พื้นที่นี้เกิดความลาดชัน และอยู่ใกล้ลำห้วย จะต้องมีการปักแนวเสาคอนกรีตเพื่อให้แผ่นดินมีความแน่นมากขึ้นกว่าเดิม

และล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 17 ต่อเนื่อง 18 มี.ค. 61 กองดินทิ้งสูงร่วม 90-100 เมตร พื้นที่รอยต่อระหว่างบ้านห้วยคิงแม่เมาะ-บ้านดง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ใช้เป็นพื้นที่ทิ้งดินของเหมืองแม่เมาะ เนื้อที่ทั้งหมดราว 3,800 ไร่ ได้เกิดการสไลด์-ทรุดตัวลงทับถนน-คลองส่งน้ำ จนเสาไฟฟ้าแรงสูงโค่น-สายพานลำเลียงดินทิ้งของบริษัทสหกลฯ หนึ่งในคู่สัญญาของ กฟผ.ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง, ผู้แทน มทบ.32, ผู้แทนนายอำเภอแม่เมาะ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดห้องประชุม M1 ที่ทำการเหมืองแม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ร่วมกันให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ทำให้ดินใหม่ที่อยู่ด้านบนสไลด์ตัวลงมา ซึ่งจะต้องเร่งสำรวจว่ามีการกัดเซาะจุดไหน

ส่วนความเสียหายนั้น มีเสาไฟฟ้าแรงสูง 5 ต้นแต่ไม่กระทบต่อการส่งกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด, สะพาน, ถนนเลียบคลองส่งน้ำ และสายพานลำเลียงดิน แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ได้ปิดเส้นทางที่ให้ชาวบ้านผ่านระหว่างบ้านดงมายังอำเภอแม่เมาะไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ มีรายงานว่าจุดทิ้งดินของเหมืองลิกไนต์แม่เมาะมีอยู่ทั้งสิ้น 23 แปลง โดยแปลงใหญ่ที่สุดที่ยังคงมีการทิ้งดินอยู่ในปัจจุบันมีเนื้อที่ 11,800 ไร่ เฉพาะจุดศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ


กำลังโหลดความคิดเห็น