ศูนย์ข่าวศรีราชา- ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังจับกุมสินค้าเป็นไม้หวงห้ามส่งออก ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ วัตถุลามก และบุหรี่ไฟฟ้า มูลค่ารวมกว่า 240 ล้านบาท โดยยึดสินค้าทั้งหมด และเตรียมดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป
เมื่อเวลา 10.00. น.วันนี้ (12 มี.ค.) นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร พร้อมด้วย นายวรวุฒิ วิบูลย์ศิริชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง หลังจับกุมสินค้าไม้หวงห้ามลักลอบส่งออก ประเภท ไม้ประดู่แปรรูป ไม้ประดู่ท่อน ไม้ชิงชันแปรรูป และไม้พะยูงแปรรูป บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังจับกุมสินค้าผ่านแดนไป สปป.ลาว ที่ตรวจพบเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ วัตถุลามก บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ประกอบ เช่น หัวเทียนรถยนต์ ใบเลื่อยไฟฟ้า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท
สำหรับสินค้าทั้ง 6 ตู้ที่จับกุมนั้น สำแดงชนิดสินค้าเป็นสับปะรดในน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง มะม่วงชิ้นในน้ำเชื่อม เมทัลซีส และแป้งข้าวเจ้า แต่เมื่อเปิดตู้ดู พบเป็นไม้แปรรูป และไม้ท่อนบรรจุอยู่ทั้งหมด เป็นไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน และไม้พะยูง จำนวนประมาณ 1,884 แผ่น/เหลี่ยม/ท่อน มูลค่าสินค้ารวมประมาณ 19 ล้านบาท และหากส่งถึงปลายทางจะมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านบาท
โดยได้ทำการตรวจยึดไม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6, 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 กรณีดังกล่าวผู้ส่งออกสำแดงรายละเอียดสินค้าเป็นเท็จ จึงเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ ส่งออกสินค้าโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2555 ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และมาตรา 48, 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
นายชูชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้จับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าต้องห้ามผ่านแดน จำนวน 1 ตู้ ซึ่งทำพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสำแดงรายละเอียดสินค้าเป็นของใช้ในครัวเรือนใหม่ แต่จากการตรวจสอบสินค้าไม่ตรงสำแดง ประเภท รองเท้า ชุดสตรี นาฬิกาข้อมือ เครื่องสำอาง อะไหล่รถ เป็นต้น ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำนวนรวมกว่า 130,000 ชิ้น
และยังตรวจพบวัตถุลามก อวัยวะเพศชายเทียมทำด้วยยางซิลิโคน และบุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบ และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักรด้วย โดยดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 105 มาตรา 106 มาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559 บัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท
นายชูชัย กล่าวอีกว่า การปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมสินค้าลักลอบหลีกเลี่ยงตามพระราชบัญญัติศุลกากร มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นตามนโยบายของกรมศุลกากร เพื่อเป็นการขจัดอิทธิพล และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มขบวนการค้าของเถื่อน ซึ่งของกลางในครั้งนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 240 ล้านบาท