เลย-ชาวบ้านกลุ่มรักษ์เมืองเลยบุกศาลากลางยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ จี้แก้ปัญหา “ภูเรือวโนทยาน” ของตระกูล “กรรณสูต” รุกป่า ลั่นหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐส่อทุจริตคิดช่วยเหลือผู้ถูกเพิกถอนกรรมสิทธิ์ต้องลงโทษทั้งทางวินัย และอาญาเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง โดยขีดเส้นสางปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (16 ก.พ.) บริเวณด้านหน้าศาลากลาง จ.เลย กลุ่มรักษ์เมืองเลย นำโดยนายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว เดินทางมายื่นหนังสือแก่ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อให้กำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายและขอเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่วมตรวจสอบแก้ปัญหานายทุนบุกรุกป่า
นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เมืองเลย กล่าวว่า เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้วที่ปัญหาการบุกรุกที่ดินบริเวณป่าภูหมี-ภูขี้นาค บริเวณอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ได้ถูกจุดประเด็นโดยเครือข่ายประชาชนในนาม “กลุ่มรักษ์เมืองเลย” โดยให้โอกาสและเฝ้ามองการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ว่าจะเป็นไปอย่างที่ประกาศว่าจะจัดการกับผู้บุกรุกโดยเด็ดขาดหรือไม่ นับแต่เริ่มจุดประเด็นเรื่องนี้จากปี 2538-2539
แม้จะมีความคืบหน้าอยู่บ้าง จากการประกาศเพิกถอนที่ดิน น.ส.3 ก. กว่า 100 แปลงของนายทุนกลุ่มอิตาเลียนไทยตระกูล “กรรณสูต” ที่ได้สิทธิมีชื่อเป็นผู้ถือครองที่ดิน 147 แปลง 131 แปลง
ซึ่งมีการตรวจสอบและพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถูกเพิกถอนเมื่อประมาณปี 2546 ส่วนอีก 16 แปลง ผู้ว่าฯ เลยชี้แจงออกทีวีวันก่อนว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ
นายคุ้มพงษ์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ภาคประชาชนในนามกลุ่มรักษ์เมืองเลยจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกผืนป่าของ “ภูเรือวโนทยาน”อย่างจริงจัง-จริงใจ ดังนี้ 1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเปิดเผยผลการตรวจสอบโดยเร่งด่วน 2) ตั้งกรรมการตรวจสอบบุคคลและหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานผิดปกติส่อไปในทางช่วยเหลือตระกูลกรรณสูต
3) ต้องให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ถูกเพิกถอนแล้ว ทำไมผู้ถูกเพิกถอนยังอยู่ได้-อยู่ดี อยู่ในฐานะใด? 4) เพื่อความเชื่อมั่นกรรมการที่ตรวจสอบต้องมีตัวแทนภาคประชาชนร่วมด้วย 5) หากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดส่อทุจริตคิดช่วยเหลือผู้ถูกเพิกถอนต้องลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้งหมด 6 ประเด็นดังกล่าว ทางจังหวัดเลยต้องดำเนินการให้เห็นผลภายใน 1 เดือน โดยหลังจากนั้นต้องมีการตั้งกรรมการชุดถาวรร่วมภาครัฐและประชาชนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ที่ได้กลับคืนมา โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนคนพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา