เชียงราย/เชียงใหม่ - สำรวจตลาดกุหลาบรับวาเลนไทน์เมืองพ่อขุนฯ พบวันนี้มีขายเพียงประปราย แถมราคาพุ่งเป็นเท่าตัว ขณะที่ชาวสวนลดพื้นที่ปลูก หันทำแปลงทานตะวัน-พิทูเนียแทน หลังคนรุ่นใหม่ส่งรักผ่านโซเชียลฯ มากขึ้น ด้าน สคบ.ลุยตรวจแปลงกุหลาบเชียงใหม่
แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันจะถึงเทศกาล 14 กุมภาฯ วันแห่งความรัก หรือวาเลนไทน์ 2561 แต่ตลาดดอกไม้เชียงราย โดยเฉพาะดอกกุหลาบ กลับซบเซาลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ตลาดศิริกรณ์ เทศบาลนครเชียงราย พบว่ามีดอกกุหลาบวางจำหน่ายเพียงประปราย
เจ้าของร้านดอยฟลอรีสท์ ตลาดศิริกรณ์ เทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่า ปีนี้มีดอกกุหลาบออกสู่ตลาดน้อยมาก ทำให้มีกุหลาบวางจำหน่ายน้อย ราคาก็สูงขึ้นประมาณ 30% โดยกุหลาบดอกเล็กเดิมจำหน่ายห่อละ 200-250 บาท ก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300-400 บาท เพราะสวนกุหลาบมีดอกออกน้อย เนื่องจากอากาศปีนี้แปรปรวนและมีฝนตกนอกฤดู
นางกาบแก้ว ดอนเน็ตร แม่ค้าร้านตุ๊ต๊ะ ฟลอริสท์ ตลาดศิริกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้ารับดอกไม้จากหลายสวนในพื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่เป็นหลัก สำหรับร้านเรารับมาจากภูชี้ฟ้า อ.เทิง จ.เชียงราย มาเป็นห่อ ห่อละ 25 ต้น ราคาประมาณ 200 บาท นำมาจำหน่ายปลีกราคาดอกละประมาณ 20 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนถือว่าเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว เนื่องจากดอกมีน้อย
และตอนนี้ก็มีเพียงกุหลาบเกรดบีและซีเท่านั้นที่วางขายกันอยู่ แต่ช่วงใกล้วันวาเลนไทน์คาดว่าคงจะมีกุหลาบเกรดเอราคาดอกละประมาณ 40 บาทเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนดอกไม้จากจีนต้องดูราคากันช่วงสุดท้าย เพราะราคาแพงกว่าของไทยหลายเท่าตัวเช่นกัน
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดดอกกุหลาบปีนี้ซบเซาคือ ค่านิยมของคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่น ที่หันไปใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ ส่งความรักให้กันมากขึ้น รวมถึงมีของฝากอื่นๆ นอกจากนี้สภาพอากาศที่แปรปรวน บางช่วงมีฝนตก ทำให้ดอกกุหลาบออกสู่ตลาดน้อย
ขณะที่นายพูลศักดิ์ คิดมุ่ง เจ้าของสวนกุหลาบพูลศักดิ์ เลขที่ 259 ม.13 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งปลูกดอกกุหลาบจำหน่ายมานาน บอกว่า ได้ปรับพื้นที่สวนกุหลาบของตนปลูกไม้ดอกอื่นๆ แทน เช่น ดอกทานตะวัน พิทูเนีย กล้วยไม้ ฯลฯ เหลือกุหลาบแค่ 20% เท่านั้น
นายพูลศักดิ์กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องปรับตัว เพราะในอดีตเคยปลูกดอกกุหลาบขายครั้งละกว่า 20,000 ต้น จากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ กระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่สามารถปลูกกุหลาบเพื่อรอจำหน่ายเฉพาะช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสั่งซื้อน้อยลงมาก
“กุหลาบ ปลูกกันเป็นปี เก็บได้ครั้งเดียว อายุดอกก็ทนได้แค่สัปดาห์เดียว แต่ทานตะวัน ใช้เวลาปลูกแค่ 2-3 เดือนก็เก็บขายได้ราคาต้นละกว่า 50 บาท และนำเมล็ดมาเพาะได้อีกเรื่อยๆ ดอกพิทูเนียก็ใช้เวลา 5-6 เดือน ให้ดอกสลับกันไปนานถึง 5-6 เดือน ราคาจำหน่าย 30-40 บาท และยังเก็บได้เรื่อยๆ หากว่าปรับหรือบำรุงให้เป็นพุ่มใหญ่ยังมีราคาสูงถึง 80-150 บาทได้อีกด้วย”
ขณะที่ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ สคบ. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกดอกไม้ หมู่บ้านบวกเต๋ย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบหาสารฟอร์มาลินที่อาจปนเปื้อนมากับดอกไม้ ตั้งแต่กระบวนการผลิต เก็บรักษา จนถึงการขนส่งไปยังแหล่งจำหน่าย และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความเป็นอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสารฟอร์มาลินที่พบในดอกไม้ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าและให้บริการอย่างเป็นธรรมไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และได้รับความปลอดภัยจากการซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเทศกาลนี้ด้วย